มหาดไทย ประเดิมเจ้าภาพ แก้สารพัดปัญหา ภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. หลัง “ปลัดเก่ง” เซ็นแต่งตั้ง 27 คณะกรรมการ จากทุกภาคส่วน ทั้ง มท./สธ./ แพทย์/พยาบาล/ วิชาชีพ สธ./หน่วยงาน “4 ส.” รวมถึงล่าสุด “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” คาด เสนอแก้ปมซ้ำซ้อน ข้อระเบียบกฎหมาย การใช้จ่ายงบประมาณ ระหว่าง “มหาดไทย-สาธารณสุข”
วันนี้ (28 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในต้นเดือนหน้า กระทรวงมหาดไทย (มท.) เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
ภายหลัง เมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ปลัด มท.ลงนามแต่งตั้ง 27 คณะกรรมการจากทุกภาคส่วน เช่น มท. อปท สงป. สปน. สธ. ดีอีเอส แพทยสภา สมาคมสภาพยาบาล สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิชาชีพสาธารณสุข รวมถึง หน่วยงาน สป.สช. สปส. สช. สพฉ. และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
โดยมีอำนาจวิเคราะห์ปัญหา จัดทำข้อเสนอแนะ และประเมิน หลังจาก สอน. และ รพ.สต.ถ่ายโอนแล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด บุคลากรถ่ายโอนจำนวนประมาณ 21,000 คน
“ที่ประชุมมีวาระเพื่อพิจารณา แนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้ อปท. หลังจากถ่ายโอนมาแล้ว ในปี งบ 2564 2565 และ 2566”
รวมถึงการดำเนินการถ่ายโอน ในปีงบ 2567 สำหรับ อบจ. ซึ่งยังไม่เคยขอรับการประเมินความพร้อมเพื่อรับการถ่ายโอน ในเขตจังหวัดในปีงบ 2566 ที่แจ้งความประสงค์ใน 14 จังหวัด 522 แห่ง บุคลากรถ่ายโอน จำนวน 3,862 ราย แลัะที่ผ่านเกณฑ์ในเขตจังหวัดเพิ่มเติม (43 จังหวัด) ใน 714 แห่ง บุคลากร ประสงค์ 5,080 ราย
มีรายงานว่า สำหรับปัญหาอุปสรรคในการถ่ายโอน ที่จะมีการนำมาพิจารณา เช่น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่าง แพทย์ทันตแพทย์ หรือเภสัชกร โดเยจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายระเบียบต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ให้รองรับการทำงานร่วมกัน
รวมถึง ประเด็นการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการให้ความร่วมมือด้านข้อมูลบุคลากรตามคู่มือกระจายอำนาจฯ ที่ได้รับมาและคู่มือการถ่ายโอนภารกิจฯ ด้วยให้มีการจัดทำข้อมูลและปรับปรุงอัตรากำลังเพื่อรองรับการถ่ายโอน รพ.สต. และกำหนดการช่วยราชการข้ามกระทรวง
ยังรวมถึง ระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่ต้องถือปฏิบัติในการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ให้สอดคล้องกัน เช่น ให้มีการหารือกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ จะสามารถแก้ไขได้ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณเรื่องสวัสดิการต่างๆ
“ปัจจุบันมีการให้ใช้เงินสะสม เป็นความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ เช่น ค่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. อัตรากำลังแพทย์พนักงานสาธารณสุข เปิดกรอบมาแล้วก็ต้องใช้เงินของ อบจ. โดยนำเงินสะสมมาใช้ก่อน บาง อปท. ไม่มีเงินสะสมที่เพียงพอที่จะสนับสนุนตรงนี้ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน”
ยังมี ปัญหาที่ อบจ. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินของ รพ.สต. เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนา เช่น จะดำเนินการปรับปรุงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่สามารถที่จะทำได้
ยังมีปัญหางบประมาณ เงินอุดหนุน ถ่ายโอนตามขนาด S M L 1,000,000 บาท 1,500,000 บาท และ 2,000,000 บาท ไม่สามารถส่งต่อไปให้กับทาง รพ. และทาง รพ.สต. ที่เกี่ยวข้องได้
“ติดขัดจาก สปสช. อยู่ 19 จังหวัด ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเป็นการตกลงระหว่าง อบจ. กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ไม่ได้ข้อตกลงที่ลงตัวกัน แต่อีก 30 จังหวัด อบจ. และ สสจ.ตกลงกันได้ เป็นต้น”