xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมขยายผลสอนดนตรีด้วยระบบโนเทโร่ในโรงเรียนประถมทั้ง 431 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่โรงเรียนวัดม่วง เขตบางแค ชี้ กทม.เตรียมขยายผลสอนดนตรีด้วยระบบโนเทโร่ในโรงเรียนประถมทั้ง 431 แห่ง

วันนี้ (9 มี.ค. ) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่โรงเรียนวัดม่วง เขตบางแค เพื่อติดตามการเรียนการสอนวิชาดนตรีด้วยระบบโนเทโร่ (Notero) ว่า วันนี้มาดูการเรียนการสอนดนตรีของโรงเรียนวัดม่วง ตามโครงการ Open Education ที่มุ่งเติมเต็มการเรียนรู้ของนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการต่อยอดขยายผลจัดการเรียนการสอนดนตรีในวันเสาร์ (Saturday School) และหลังเลิกเรียน (After School) ด้วย

โดยทางโรงเรียนวัดม่วงได้มีการนำเทคโนโลยีการเรียนดนตรีรูปแบบเกมมิฟิเคชั่น (Music Gamification) หรือการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเกมเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนดนตรีรูปแบบใหม่ ที่ทางสตาร์ตอัป Notero เป็นผู้พัฒนาขึ้น มาใช้เสริมกับเครื่องดนตรีเก่าที่มีอยู่แล้ว เพื่อสอนให้แก่เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งหัวใจของเทคโนโลยีไม่ได้มีเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศอย่างเดียว แต่สามารถมาลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เครื่องดนตรีที่แทบจะเก็บอยู่แต่ในห้องได้ถูกนำออกมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า เรารู้สึกว่าการเรียนในรูปแบบนี้เป็นโมเดลที่สามารถขยายผลได้ โดยปัจจุบันได้ทดลองใช้ในการสอนของโรงเรียน 5 แห่ง คือ โรงเรียนวัดม่วง สำนักงานเขตบางแค โรงเรียนวัดอุดมรังสี เขตหนองแขม โรงเรียนวัดราชนัดดา สำนักงานเขตพระนคร โรงเรียนวัดบางโพโอมาวาส สำนักงานเขตบางชื่อ และโรงเรียนคลองมะขามเทศ สำนักงานเขตประเวศ วันนี้ก็เลยมาดูว่าถ้าเราถอดบทเรียนออกมา แล้วขยายผลให้กับโรงเรียนทั้ง 431 แห่งที่เป็นโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาของ กทม. จะสามารถขยายได้อย่างไร เพราะทุกโรงเรียนของ กทม. มีเครื่องดนตรีอยู่แล้ว เนื่องจากเคยมีการจัดซื้อจัดจ้างมาตั้งแต่ปี 2557 เพียงแต่หลายโรงเรียนยังขาดครูดนตรี การที่เรานำ solution นี้มาช่วยก็เหมือนเป็นการปิดจุดอ่อนในเรื่องที่เราไม่มีครูดนตรีในเกือบ 200 โรงเรียนได้ จากที่ได้มาดูเด็ก ๆ เรียนวันนี้ทำให้ได้เห็นข้อดีว่า เด็กอยากเรียนรู้และเฝ้ารอที่จะมีคลาสดนตรี ทั้ง ๆ ที่บางคนยังเล่นไม่เป็นด้วยซ้ำ เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้การเรียนรู้ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุก มีความสุขกับการเรียน ซึ่งทาง กทม. จะลองหาทางขยายผลจาก Case Study นี้ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น