xs
xsm
sm
md
lg

หญิงไทยมีภาวะซีด 30% เปิดตัว 77 สถานประกอบการ "สาวไทยแก้มแดง" จัดยาเสริมกินสัปดาห์ละครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัยจับมือ 77 สถานประกอบการ "สาวไทยแก้มแดง" จัดบริการยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลท ให้พนักงานหญิงกินสัปดาห์ละครั้ง ย้ำอยู่ในสิทธิประโยชน์ แม้ยังติดขัดข้อกฎหมายงบ PP นอกบัตรทอง เผยหญิงไทยมีภาวะซีด 30% ตั้งเป้าลดลงครึ่งหนึ่ง สร้างความครอบคลุม 80%

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงานรณรงค์สาไทยแก้มแดง ว่า ทุกวันนี้เด็กเกิดน้อยลงเหลือ 5.4 แสนรายต่อปี ซึ่งเราพยายามชะลอปัญหาตรงนี้ และเมื่อเด็กเกิดน้อยก็ต้องอย่าด้อยคุณภาพ ต้องไปทำตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ โดยมีข้อมูลว่าปัญหาอุปสรรคมี 2 เรื่อง คือ 1.การขาดธาตุเหล็ก หรือมีภาวะซีดพบสูงถึงร้อยละ 30 ทั้งหญิงตั้งครรภ์หรือวัยเจริญพันธุ์ และ 2.หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือตั้งครรภ์ หากขาดกรดโฟเลทจะส่งผลให้ลูกมีโอกาสผิดปกติแต่กำเนิด เราจึงร่วมภาคีเครือข่ายทั้ง สปสช. สสส. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้ประกอบการต่างๆ ส่งเสรีมให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ มีธาตุเหล็กและโฟเลท และจำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กและโฟเลท โดยให้ง่ายต่อการเสริมคือรับประทานสัปดาห์ละครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การเภสัชกรรมผลิตยา สนับสนุนให้เกิดการรับประทานสัปดาห์ละครั้ง ที่สำคัญคือเราปรับรูปแบบร่วมกับภาคีเครือข่าย จากเดิมที่ต้องไปรับยาที่ รพ.สต.หรือ รพ. ก็สามารถรับยาภายนอกเครือข่าย


"บางพื้นที่เริ่มมีรูปแบบให้ไปรับที่ร้านสะดวกซื้อ ช่วยส่งเสริมให้ภาวะโลหิตจาง การขาดกรดโฟเลทของหญิงวัยเจริญพันธุ์หญิงตั้งครรภ์ลดลง ให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพ ภาวะโลหิตจางลดลง โอกาสลูกเกิดมาพิการแต่กำเนิดน้อยลง แต่เรายังมีการตรวจเลือดติดตามดูด้วย แต่สิ่งที่ดูได้ง่ายคือหญิงต้องมีหน้าฝาดมีสีเลือด จึงพยายามส่งเสริมให้หญิงไทยของเราแก้มแดง" นพ.สุวรรณชัยกล่าวและว่า ขณะนี้พยายามสร้างการรับรู้ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ การขาดธาตุเหล็กและโฟเลทต้องลดลงร้อยละ 50 จากเดิมภาวะซีดร้อยละ 37 ก็ต้องเหลือร้อยละ 10 กว่า โดยภาวะซีดเล็กน้อยอาจทำให้วิงเวียนเป็นลม ส่งผลต่อการทำงาน แต่หากซีดมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในระบบการทำงาน ความร่วมมือสถานประกอบการให้ยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลทจึงมีความสำคัญ ซึ่งวันนี้ได้เปิดตัว 77 สถานประกอบการทั่วไทยมุ่งสู่สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มีหน้าที่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงาน ที่ผ่านมาเราทำเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงาน ตอนนี้เรายกระดับการเพิ่มผลิตภาพ สิ่งที่ทำคือใช้โครงสร้างที่มีบุคลากรคือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) เพียงจัดและส่งเสริมให้มียาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลทในสถานประกอบการให้กินอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งอย่างต่อเนื่อง เรามีการติดตามโดยเยี่ยมสถานประกอบการผ่านกลไก รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.จังหวัด สสจ. หรือศูนย์อนามัย และวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยสุ่มและเฝ้าระวังภาวะโลหิตจางโดยการเจาะเลือด ดูความเข้มข้นของเลือด เช่น เวลาไปฝากครรภ์ หรือสุ่มในฐานประชากรว่าหลังดำเนินการภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เด็กพิการแต่กำเนิดสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่


ถามว่าการจัดยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลท สถานประกอบการต้องจัดมาเองหรือเป็นภาระงบประมาณของสถานประกอบการหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ไม่เลย ตรงนี้เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนทุกสิทธิ แม้ตอนนี้อาจมีประเด็นข้อกฎหมายเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพในส่วนของนอกบัตรทอง แต่เป้นเรื่องข้อกฎหมายซึ่งมาเคลียร์กันได้ แต่การบริการยังเดินหน้าตามเดิมไม่แยกแยะสิทธิ โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนสามารถรับได้โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน หากมีปัญหาก็ติดต่อ สสจ. ศูนย์อนามัย สปสช.หรือกรมอนามัย สำหรับสถานประกอบการอื่นที่สนใจเข้าร่วมก็สามารถติดต่อกรมอนามัย โดยเราจะสนับสนุนกลไกการบริหารจัดการ และเสริมการเข้าถึงยา เพียงแค่บอกกลุ่มวัยทำงานไปรับ แต่บางแห่งเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ มีห้องพยาบาล โครงสร้างของกองทุนประกันสังคมก็จะมี รพ.ประจำที่ดูแล ก็เพียงไปเสริมซึ่งกันและกัน โดยสถานประกอบการสามารถติดต่อ รพ.เพื่อรับยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลทมาให้บริการได้โดยรับประทานสัปดาห์ละครั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น