กรมอนามัย จัดกิจกรรม sod smart เป็นตัวคุณ ในแบบที่คุณเลือก เพื่อพัฒนา mindset ในการวางแผนชีวิต เตรียมรับมือกับวิกฤตเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย ระหว่างวันที่ 28 - 29 มกราคม 2566 ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ นนทบุรี
จากสถานการณ์การเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบกับปัญหาอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร ปัญหาเด็กเกิดน้อยจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย พยายามหาทางเพิ่มประชากร โดยมีการให้สิทธิ สวัสดิการ รวมถึงปลดล็อคนโยบายประชากร เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้น แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดที่ทำได้สำเร็จ
เหตุผลของการไม่มีบุตรมาจากหลายปัจจัย คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเลือกที่จะอยู่เป็นโสด การแต่งงาน การมีบุตรไม่ใช่เป้าหมายของการใช้ชีวิตเหมือนในอดีต คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับอิสระ ความก้าวหน้าในการทำงาน การหารายได้เพื่อดูแลตัวเอง การมีบุตรถูกมองเป็นภาระ ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน การท่องเที่ยว ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพสูง ประกอบกับสภาพสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย หลายคนจึงมีมุมมองว่าการแต่งงานและการมีบุตรจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเสมอไป หลายคนเลือกที่จะเป็นโสด คนที่ใช้ชีวิตคู่ชะลอการมีบุตร หรือตัดสินใจไม่มีบุตร นอกจากนี้หลายครอบครัวยังประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้
“ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า “ปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดลดลงแตะ 500,000 คน ซึ่งเป็นการลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มจะลดลงอีก โดยไม่มีทีท่าว่าตัวเลขจะขยับสูงขึ้น สิ่งที่กรมอนามัยต้องการสื่อสารกับสังคมคือ จำนวนการเกิดที่ลดลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรของไทยในอนาคต ทำให้สัดส่วนของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรในวัยทำงาน นอกจากจะต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูตัวเองแล้ว จะต้องเตรียมพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องปัจจัยสี่ รวมถึงเวลาในการดูแลด้วย นอกจากปัญหาภาระพึ่งพิงวัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว
ภาพรวมของประเทศในอนาคตยังต้องพบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่อาจต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น การจัดเก็บภาษีอาจจะไม่เพียงพอกับงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารประเทศ รวมถึงกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันไปด้วย
ดังนั้น การพัฒนา mindset ให้กับประชาชนจึงสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เพราะทุกการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตคู่หรือการมีบุตรเป็นสิทธิส่วนบุคคล ทุกคนควรมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง ในแบบที่เลือกเอง เพื่อให้พร้อมต่อการรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นคง การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป้าหมายนอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ทางกรมอนามัยจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ โดยการจัดกิจกรรมในรอบนี้เป็นการเสนอความเห็นจากกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มคนโสด ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวคุณภาพ / สังคมคุณภาพ ไม่ว่าในปัจจุบันนี้หรือต่อไปในอนาคตจะตัดสินใจใช้ชีวิตรูปแบบใดก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายตรงใจคนโสด ตอบโจทย์คนมีคู่อย่างแท้จริง”