อย.เตือน“ขนมควันทะลัก” ผสมไนโตรเจนเหลวทำให้เกิดควัน หากจะกินต้องรอให้ควันหมดก่อน หากสัมผัสโดยตรงทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย สูดดมหมดสติ ย้ำคนขายต้องใช้ไนโตรเจนเหลวมีคุณภาพ ใช้ปริมาณที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียแจ้งเตือนผู้ปกครองระวัง หลังเด็กราว 25 คน ล้มป่วย จากการกินขนม “ดรากอนส์ เบรธ” หรือลมหายใจมังกร เป็นขนมท้องถิ่น “ชิกิ เกบุล” ซึ่งผสมกับไนโตรเจนเหลว ตามกระแสในแอปพลิเคชัน Tiktok ว่า การใช้ไนโตรเจนเหลวในอาหารพร้อมบริโภค เพื่อให้เกิดควันพวยพุ่งออกมา เป็นการปลุกกระแสสร้างความแปลกใหม่ ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อไปรับประทาน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขนมควันทะลัก” หรือการดัดแปลงนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้แข็ง เช่น ราดหรือผสมลงในไอศกรีม ราดลงบนขนมให้แข็งตัว
ทั้งนี้ ผู้ใช้ต้องมีความระมัดระวังและต้องใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร และปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หากตรวจพบว่า มีการใช้ไนโตรเจนเหลวปริมาณมากจนเกินเหตุและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการกิน สัมผัส หรือ สูดดม โดยตรง เสี่ยงได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง เพราะไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ ไนโตรเจนเหลวจะดูดซับความร้อนจากผิวหนัง เพื่อการระเหยอย่างรวดเร็ว และทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากความเย็นจัด หรือหากสูดดมโดยตรงอาจทำให้หมดสติได้ การกินอาหารประเภทนี้ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยออกไปให้หมดก่อนจึงจะกินได้ หากไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 Line @FDAThai , Facebook FDAThai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ระบุถึงการใช้ไนโตรเจนในอาหารว่า มีหน้าที่ เป็นสารทาใหเเกิดฟอง, ก๊าซที่ช่วยในการเก็บรักษาอาหาร, ก๊าซที่ใช้ขับดัน มีการกำหนดการใช้ในอาหาร 76 รายการ เช่น นมชนิดเหลว ไอศกรีมหวานเย็น ผลไม้แปรรูป ลูกกวาด ลูกอม ช็อกโกแลต พาสตา ก๋วยเตี๋ยว ธัญชาติ ไส้สำหรับบรรจุไส้กรอก เป็นต้น โดยปริมาณสูงสุดที่อนุญาต ระบุเพียงว่า ให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องของดุลยพินิจของผู้ผลิต หรือผู้ปรุงประกอบอาหาร เนื่องจากไม่ได้กำหนดค่าสูงสุดเอาไว้