วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ ART LEARNING รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย อ.สมใจ จงรักวิทย์ ประธานโครงการ ได้นำคณะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประมาณ 30 คน เข้าชมงานจิตรกรรมฝาผนังผลงานของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2543 ที่อุโบสถ วัดตรีทศเทพวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี เขตพระนคร ในย่านชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และปัจจุบันมีอายุยาวนานกว่า 150 ปีแล้ว
หลายคนคงเคยผ่านไปผ่านมา อาจจะแวะเวียนมางานบุญ งานศพ ของวัดสำคัญใจกลางเขตพระนครแห่งนี้ หรืออาจจะอาศัยลานจอดรถในวัดตรีทศเทพ ในยามเช้าเพื่อแวะเวียนมาลองกาแฟโบราณในร้านโกปี๊เก่าแก่อย่าง “เฮี๊ยะไถ่กี่” หรือ ร้านอาหารจีนสุดคลาสสิกที่รั้วตั้งอยู่ติดกับวัดอย่าง “ภัตตาคารพูนสินเป็ดย่าง” แต่เชื่อว่าในบรรดาคนที่รู้จักและคุ้นเคยกับวัดแห่งนี้ มีไม่มากนักที่มีโอกาสได้ชมจิตรกรรมฝาผนังที่ขึ้นชื่อว่า งดงามที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ โดยมีการเขียนมาต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2533 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 33 ปีแล้ว
จากประสบการณ์ของ ซึ่งเคยฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี มาตั้งแต่ปี 2516 กอปรกับที่เคยซ่อมภาพรามเกียรติ์ที่ พระระเบียงวัดพระแก้ว อ.จักรพันธุ์ จึงระดมลูกศิษย์ชั้นเอก และทุ่มเทกำลังต่าง ๆ เพื่อลงมือเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดตรีทศเทพวรวิหาร ตามโครงการที่อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งมีความรู้จักมักคุ้นกับเพื่อนสนิทของคุณแม่ของ อ.จักรพันธุ์ ติดต่อให้ไปเขียน
ในการทัศนศึกษาครั้งนี้ เหล่านักเรียน และคณาจารย์จาก รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ได้รับเกียรติ และโอกาสในการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรเป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด กับ อ.จักรพันธุ์ โดยทั้งนำชม และบรรยายเรื่องราวบนฝาผนัง รวมถึงเทคนิคในการเขียนต่าง ๆ อย่างละเอียด ประกอบไปด้วย อ.ธวัชชัย วิเศษกุล, อ.เสาวนีย์ ชูจั่นหรุ่ม และ อ.วิรัตน์ แสงครุฑ
สำหรับ ความงดงามของงานจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์จักรพันธุ์นั้น เป็นที่เลื่องลือในความละเอียด งดงาม นอกจากนี้ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเองจนได้ชื่อว่าเป็น “งานจิตรกรรมฝาผนัง สกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤต” ด้วยความที่เป็นงานละเอียดลออในทุกขั้นตอน ทำให้ ณ ปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านมา 33 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ปัจจุบัน งานส่วนที่เสร็จแล้ว คือ ผนังด้านหลัง “พระพุทธนวราชบพิตร” พระประธาน, ด้านขวาพระประธาน ผนังประสูติ, ด้านหน้าพระประธาน ผนังตรัสรู้ ตอนมารผจญ และรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งในส่วนเสา กรอบประตู-หน้าต่าง ส่วนผนังด้านซ้ายพระประธานคือ ผนังปรินิพพานยังอยู่ระหว่างการเขียน ซึ่งหากคิดคำนวณอย่างคร่าว ๆ แล้ว ผนังแต่ละด้านจะต้องใช้เวลาเขียนราว 7-10 ปีเลยทีเดียว
โดยในวันนั้นเด็ก ๆ นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง พุทธศิลป์ และเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ที่เชื่อมโยงไปถึงตัวละครต่าง ๆ จากรามเกียรติ์แล้ว น้อง ๆ ยังมีโอกาสได้ลงมือลองปิดทอง และบดสีฝุ่นโบราณ ใช้ใช้วิธีผสมแบบพิเศษอีกด้วย
อนึ่ง สำหรับสีฝุ่นที่ทีมงานของ อ.จักรพันธุ์ ใช้นั้นเป็นสีฝุ่นแบบโบราณแท้ ๆ แต่เอามาผสมกับวานิช (แทนกาว) ส่วนตัวละลายแทนน้ำจะใช้เป็น "น้ำมันสน" ซึ่งมีความคงทนดีกว่าการใช้กาวกระถินในสมัยโบราณ ซึ่งเมื่อโดนน้ำก็ละลายแล้ว นอกจากนี้วัสดุ ที่ใช้ในการ “ปิดทอง” แทนการใช้ยางมะเดื่อ คือ กาวอีพ็อกซี่ ซึ่งมีคุณสมบัติของการแห้งช้า อีกทั้งเมื่อแห้งแล้วยังทำให้ทองสุกปลั่ง รวมทั้งการประดับลาย ซึ่งจะใช้สีโป๊วรถยนต์ กดลงบนพิมพ์หินสบู่แทนรัก ก่อนจะปิดทอง ทำให้ทนทานและใช้งานง่ายกว่า ขณะที่สำหรับในส่วนของ “ดาวบนท้องฟ้า” ระยิบระยังประดับผนัง นั้นเป็นการนำคริสตัลสวารอฟสกี้มาประดับ ทำให้เมื่อต้องแสงไฟจึงสะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ
“การที่เด็ก ๆ และอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้มาเยี่ยมชมการเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดตรีทศเทพฯ เพราะเด็กๆ จะได้ซึมซับความรู้เรื่องศิลปะไทย และสืบสานศิลปะไทย ได้เรียนรู้วิธีการทำงานจิตรกรรมไทยโบราณ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็ก ๆ ระดับชั้นประถมเลย ซึ่งเทียบกับสมัยผมแล้ว เด็ก ๆ สมัยนี้มีโอกาสที่ดีกว่ามากในการเข้าถึงงานศิลปะของไทย” อ.วิรัตน์กล่าว
ด้าน อ.สมใจ ประธานโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ ART LEARNING รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ระบุว่า สาเหตุที่เลือกงานจิตรกรรมฝาผนังผลงานของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ณ อุโบสถ วัดตรีทศเทพวรวิหาร ให้เป็นสถานที่ทัศนศึกษาของ เด็ก ๆ ก็เพราะว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่มีความงดงามมาก ๆ และอาจจะถือว่างดงามที่สุดในยุคนี้
“เด็ก ๆ ควรจะได้รับการปลูกฝัง และได้เรียนรู้เรื่องของศิลปวัฒนธรรมไทย จะได้เห็นความงดงามของศิลปะไทย ซึ่งเป็นงานที่ร่วมสมัยของ อ.จักรพันธุ์ โดยก่อนหน้าที่จะมาทัศนศึกษาที่นี่ เด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้เรื่องราว ต่าง ๆ เกี่ยวกับ อ.จักรพันธุ์ ตั้งแต่ประวัติชีวิตเด็ก ๆ การฝึกวาดรูป รวมถึงแรงบันดาลใจต่าง ๆ ของอาจารย์”
อ.สมใจ ยังบอกอีกด้วย โครงการนี้พยายามออกแบบและจัดสรรให้เด็ก ๆ ได้ไปชมงานศิลปะในสถานที่หลากหลายอย่างเช่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเพิ่งเข้ามาในโครงการ ก็จะพาไปในที่ซึ่งเด็ก ๆ ได้เปิดโลกศิลปะ ได้ตื่นตาตื่นใจ จึงพาไปทัศนศึกษาที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยกรุงเทพมหานคร (MOCA) ส่วนชั้น ป.3 และ ป.4 จะมาดูงานจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดตรีทศเทพ ส่วน ป.5 และ ป.6 นั้น โครงการพาไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดแสดงงานเซรามิกญี่ปุ่นโบราณ และเครื่องปั้นดินเผาของไทย
โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ ART LEARNING
โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ ART LEARNING เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อจัดการเรียนรู้ทางด้านศิลปะให้แก่นักเรียนที่มีความสามารถสูงทางด้านศิลปะในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-3-4-5 และ 6 โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมกระบวนการเรียนรู้ศิลปะทั้งในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ สุนทรียศาสตร์ ศิลปวิจารณ์ และศิลปะปฏิบัติ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ให้เต็มตามศักยภาพการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการคือนักเรียนที่มีความสามารถสูงทางด้านศิลปะที่ผ่านการคัดเลือก การจัดตั้งโครงการนี้เพื่อเป็นการสร้างเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนศิลปะให้สามารถจัดกิจกรรมที่หลายรูปแบบได้อย่างอิสระ สามารถตอบสนองความต้องการของหลักสูตร และนักเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างบุคลากรทางด้านศิลปะ ครูศิลปศึกษาทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา ศิลปิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการศึกษาทางด้านศิลปะ เช่น หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ วัดและโบราณสถาน รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะอื่น ๆ ในชุมชน