เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา กับ “อุโมงค์หน้าพระลาน” โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ที่เดินทางสักการะขอพรพระแก้วมรกต และชมความงดงามของพระบรมมหาราชวัง
และครั้งนี้ขอพาทุกคนมารู้จักกับ "อุโมงค์หน้าพระลาน" ทางเดินลอดถนนที่มีทัศนียภาพงดงามแปลกตา
“อุโมงค์หน้าพระลาน” ตั้งอยู่บริเวณฝั่งประตูมณีนพรัตน์ พระบรมมหาราชวัง นักท่องเที่ยวสามารถเชื่อมต่อไปยังศาลหลักเมือง หน้ากรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุและสนามหลวง โดยอุโมงค์แห่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก และเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว
การปรับภูมิทัศน์สนามหลวง
การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะปรับภูมิทัศน์สนามหลวง จัดระเบียบการสัญจร คนไม่ต้องเดินข้ามถนน เพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ ลดความแออัดบนท้องถนน อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ กว่า 35,000 คนต่อวัน ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง และบริเวณหน้าพระลาน
รูปแบบการก่อสร้าง
สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน มีจำนวน 2 จุด วงเงิน 945 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้างจำนวน 540 วัน ได้แก่ อุโมงค์ทางเดินลอดหน้าพระลาน จุดที่ 1 ระยะทาง 96 เมตร มีพื้นที่รวม 6,280 ตารางเมตร พร้อมห้องน้ำชาย 21 ห้อง ห้องน้ำหญิง 55 ห้อง โถงพักคอยและทางเดิน อาคารกองอำนวยการ
และอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน จุดที่ 2 ระยะทาง 37 เมตร พื้นที่รวม 350 ตารางเมตร พร้อมงานก่อสร้างระบบสุขาภิบาล ระบบระบายน้ำ ระบบไฟแสงสว่าง ระบบระบายอากาศและปรับอากาศ ระบบจราจรและงานปรับปรุงภูมิทัศน์ และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในอุโมงค์ทางลอด
โดยพื้นที่ภายในอุโมงค์สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวได้ประมาณครั้งละ 2,500 คน ทั้งนี้ในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในเบื้องต้นจะใช้เจ้าหน้าที่และจิตอาสา รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจควบคุมดูแลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้บริการในอุโมงค์ฯ
ภายในมีโถงพักคอยปรับอากาศเย็นสบาย พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และสามารถเดินชมภาพประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่หาชมได้ยากกันอย่างเพลิดเพลิน รวมทั้งยังมีเก้าอี้ให้นั่งพักผ่อนคลายเหนื่อยอีกด้วย รวมไปถึงมีจุดประชาสัมพันธ์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง มีทางขึ้นลงบันได้เลื่อน 4 จุด และมีห้องน้ำไว้ให้บริการเป็นจำนวนมาก
ลิฟต์แก้วลงอุโมงค์ทางลอดสุดไฉไล
อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจกับนักท่องเที่ยวก็คือ “ลิฟต์แก้ว” เปิดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์และรถเข็นเด็ก นำลงไปยังทางลอดด้านล่าง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ ส่วนลักษณะพิเศษของลิฟต์เครื่องนี้คือการออกแบบโดยไม่มีการบดบังทัศนียภาพ จะมีเพียงรั้วกระจกกั้นโดยรอบเท่านั้น เพราะลิฟต์จอดอยู่ที่ชั้นใต้ดินตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อมีผู้กดเรียกใช้งาน
จุดเชื่อมต่อสถานที่ที่สำคัญ
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสนามหลวงโดยนำรถยนต์ส่วนตัวมา สามารถจอดรถได้ที่บริเวณสนามหลวง จากนั้นเดินทางใช้บริการอุโมงค์ทางลอดเพื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงได้แก่ ทางออก 3 : ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ที่บริเวณหัวมุมข้างพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง เขตพระนคร เป็นอีกสถานที่ศักดิ์สิทธิของไทย โดยมีนักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
นอกจากพระหลักเมืองแล้ว บริเวณศาลหลักเมืองยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่บ้านเมืองอีก 5 องค์ด้วยกัน คือ “พระเสื้อเมือง” มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน “พระทรงเมือง” มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
“พระกาฬไชยศรี” เป็นบริวารพระยมมีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก “เจ้าพ่อเจตคุปต์” เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปและอ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยม “เจ้าพ่อหอกลอง” มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัย หรือมีข้าศึกศัตรูมาประชิดพระนคร
ส่วนทางออก 4 : พระบรมมหาราชวัง / วันพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งน่าสนใจให้ชมงมงามหลากหลาย และจุดที่ไม่ควรพลาดอยู่ที่พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานพระอุโบสถหย่อนท้องช้างเป็นเส้นโค้ง หลังคาทรงไทย 4 ชั้นลด หน้าบันจำหลักลายรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ล้อมรอบด้วยลายก้านขดเทพนม ลงรักปิดทองประดับกระจก
เมื่อชมวัดพระแก้วเรียบร้อยแล้ว จากนั้นมาชมความงดงามของ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” เป็นพระที่นั่งแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก และ “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” เดิมเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ทั้งองค์ ถอดแบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท สมัยกรุงศรีอยุธยา
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline