อย.ร่วม สบส.และตำรวจบุกจับ "กรวินคลินิก" และคลังเก็บสินค้า รวม 7 จุด ตรวจยึดซิลิโคนเถื่อนจมูก 1.2 หมื่นชิ้น หน้าผาก 2,775 ชิ้น และคาง 1,107 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายอีก 1,955 รายการ กว่า 2.9 ล้านบาท พบสั่งผลิตจากโรงงานเถื่อนสุพรรณบุรีที่ถูกจับก่อนหน้านี้ มาสต๊อกที่ 2 สาขาใหญ่ก่อนกระจาย 30 สาขาทั่วประเทศ พบมีคนใส่ซิลิโคน 1,621 ราย เร่งฟันโทษ 5 ข้อหา
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.แถลงจับกุมเครือข่ายคลินิกรายใหญ่ใช้ซิลิโคนเถื่อนมาให้บริการ โดย นพ.ไพศาลกล่าวว่า หลังจากมีการบุกจับโรงงานผลิตซิลิโคนเถื่อน จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ที่มีผลิตและกระจายไปยังคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ จากการสืบสวนขยายผลพบว่า มีพนักงานฝ่ายจัดซื้อของ บริษัท เค เมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้สั่งผลิต ซึ่งเมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยจะถูกส่งไปที่ "กรวินคลินิก" สาขางามวงศ์วาน และสาขาขอนแก่น พบหลักฐานการจ่ายเงินค่าซิลิโคนในปี 2565 มากกว่า 2 ล้านบาท ดังนั้น วันที่ 22 ธ.ค. 2565 จึงเข้าตรวจค้นกรวินคลินิกสาขางามวงศ์วาน และอาคารสต๊อกเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่จะใช้ในคลินิก พนักงานที่ดูแลคลังรับว่า ซิลิโคนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังกรวินคลินิกทั่วประเทศกว่า 30 สาขาตามคำสั่งของผู้บริหาร
ต่อมาวันที่ 12 ม.ค. 2566 จึงตรวจสถานที่จัดเก็บชิ้นส่วนซิลิโคนและคลินิกสาขาใหญ่ 6 จุด รายละเอียดดังนี้ 1.กรวินคลินิกสาขานครปฐม ตรวจยึดซิลิโคนรูปจมูก 484 ชิ้น ซิลิโคนคาง 134 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 5 รายการ เปิดบริการมาแล้ว 1 เดือน 2. กรวินคลินิกสาขางามวงศ์วาน ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 45 ชิ้น ซิลิโคนคาง 19 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 14 รายการ เปิดบริการมาแล้ว 5 ปี 3. คลังเก็บสินค้าสาขางามวงศ์วาน ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 185 รายการ 4. กรวินคลินิกสาขาระยอง ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 489 ชิ้น ซิลิโคนคาง 87 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 64 รายการ เปิดบริการมาแล้ว 2 ปี 5 เดือน 5. กรวินคลินิกสาขาอุดรธานี ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 837 ชิ้น ซิลิโคนคาง 90 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 145 รายการ เปิดบริการมาแล้ว 6 ปี และ 6.กรวินคลินิกสาขาขอนแก่น ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 3,144 ชิ้น ซิลิโคนหน้าผาก 27 ชิ้น ซิลิโคนคาง 777 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 991 รายการ เปิดบริการมาแล้ว 8 ปี รวมตรวจค้นทั้งหมด 7 จุด ตรวจยึดซิลิโคนรูปจมูก 12,282 ชิ้น ซิลิโคนหน้าผาก 2,775 ชิ้น ซิลิโคนคาง 1,107 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย 1,955 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 2,932,000 บาท
"เมื่อผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนที่บริษัท เคเมดิคอล(ไทยแลนด์) สั่งและจัดส่งมาที่สาขางามวงศ์วานและขอนแก่น จะกระจายซิลิโคนกรวินคลินิกสาขาอื่นกว่า 30 สาขา เพื่อใช้ในงานศัลยกรรมให้ลูกค้า มีต้นทุนซิลิโคนชิ้นละ 60-80 บาท ขายคอร์สผ่าตัดศัลยกรรมในราคา 4,900-50,000 บาท จากการตรวจสอบผู้รับบริการศัลยกรรม ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า กรวินคลินิกทั้ง 5 สาขา ผ่าตัดศัลยกรรมซิลิโคนกว่า 1,621 ราย เป็นเสริมจมูก 1,436 ราย คาง 154 ราย และเสริมจมูกกับคางพร้อมกัน 31 ราย บก.ปคบ. ได้ออกหมายเรียกกลุ่มผู้ต้องหาให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว" นพ.ไพศาลกล่าว
นพ.ไพศาลกล่าวว่า เบื้องต้นการกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน 1. ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 46/1 ระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ฯ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 46(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ร่วมกันขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4. ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 32(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 5. ร่วมกันจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 6 (10) ระวางโทษตาม ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
นพ.สุระ กล่าวว่า ซิลิโคนเสริมความงามเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ใช้กับร่างกายของมนุษย์ ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน ขึ้นทะเบียนจาก อย. เพื่อยืนยันความปลอดภัย หากนำซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐานมาให้บริการ ย่อมเสี่ยงร้ายแรงต่อสุขภาพ ทั้งการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเสียโฉม เน้นย้ำผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล กำกับดูแลมาตรฐาน หากพบว่าสถานพยาบาลใดดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ให้บุคคลที่มิใช่แพทย์ นำยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการรับรองมาให้บริการ จะดำเนินการเอาผิดโดยไม่ละเว้น ส่วนการโฆษณา ได้ตรวจสอบ "กรกวินคลินิก" ทั้ง 32 สาขา พบว่า มีการโฆษณาโดยไม่ขออนุมัติ
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ซิลิโคนจมูก หน้าผากและคาง ต้องมีกระบวนการผลิตแบบพิเศษ สะอาด ปลอดเชื้อ เพื่อนำมาใช้กับร่างกายของมนุษย์ได้ปลอดภัย เรียกว่า Medical Grade Silicone จะมีลักษณะนิ่มหรือแข็งต่างกันขึ้นอยู่กับการใช้งาน ขอเตือนคลินิกทุกแห่งให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการ อย่านึกเพียงการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีบริษัทผลิตหรือนำเข้าที่ได้รับอนุญาตจาก อย. 9 แห่ง และมีผลิตภัณฑ์ซิลิโคนจมูก หน้าผาก หรือเต้านมเทียม ได้รับอนุญาต 407 รายการ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตมาใช้ในคลินิกเท่านั้น