CEA เปิดประสบการณ์ใหม่ ชวนเที่ยว “UNFOLDING BANGKOK” ในธีม “HIDDEN TEMPLE” ท่องวัด (ลับ) ย่านบางยี่ขัน ณ วัดสวนสวรรค์ และ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ด้วยแนวคิด “ขอบเขตนิมิตร เส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์ และพุทธธรรม” สร้างสรรค์เทคโนโลยีการออกแบบ แสงสี เนรมิตคุณค่าสถาปัตยกรรมในอดีต ให้มีชีวิตอีกครั้ง พร้อมโชว์งานดนตรี ทั้งจากเยาวชน และนักดนตรีชั้นยอด ขับกล่อมบรรยากาศ สะท้อนถึง วิถีชีวิตชุมชนชาวบางยี่ขัน ระหว่างวันที่ 17-25 ธันวาคม 2565
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB Urban Ally ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และภาคีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนโปรแกรมชวนท่องเที่ยวภายใต้เทศกาล “UNFOLDING BANGKOK” ในธีม “HIDDEN TEMPLE” ท่องวัด (ลับ) ย่านบางยี่ขัน ภายใต้แนวคิด “ขอบเขตนิมิตร เส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์ และพุทธธรรม” เป็นช่วงท้ายของโปรแกรมท่องวัดลับ ที่ไม่ควรพลาดซึ่งจะมีขึ้น ณ วัดสวนสวรรค์ และ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ระหว่างวันที่ 17-25 ธันวาคม 2565 โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกทม. ผศ.ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally และคณะผู้บริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมสัมผัสวิถี ในเส้นทางแห่งพุทธ
นายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การเปิดเส้นทางการท่องเที่ยว ในธีม “HIDDEN TEMPLE” ท่องวัด (ลับ) ย่านบางยี่ขัน ภายใต้แนวคิด “ขอบเขตนิมิตร เส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์ และพุทธธรรม” เป็นช่วงที่ 3 ก่อนที่ เข้าสู่ธีมที่ 2 ของเทศกาล “UNFOLDING BANGKOK” ซึ่งเป็นช่วงสำคัญ ของการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยว ในรูปแบบการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ ที่จะพาย้อนกลับไปยังเรื่องราวความรุ่งเรือง ของสถาปัตยกรรมไทย จากการสืบค้น และสรรค์สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส และเข้าถึงคติธรรมของพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งชมการแสดงดนตรี และโขนจิ๋ว ณ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์
โดยจุดแรก ณ วัดสวนสวรรค์ CEA ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำอดีตอาณาเขตของสถาปัตยกรรมที่เคยสมบูรณ์ ด้วยการนำพื้นที่ว่างของวัด ให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านการสร้างสรรค์และการสืบค้นข้อมูล นำมาสู่ภาพจำลองของพระอุโบสถ และศิลปกรรม ที่เคยรังสรรค์ไว้จากช่างในอดีต ซึ่งเรื่องราวของสถาปัตยกรรม ในวัดแห่งนี้ เป็นการสะท้อนถึงความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่หยั่งลึกของหลักปรัชญาสะท้อนผ่านการสร้างสถาปัตยกรรมทางศาสนา และองค์ประกอบอื่นๆ รอบพระอุโบสถในอดีต ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีฉายภาพ แบบ Instagram Filter ที่จะให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับหมู่ดอกไม้ ที่เสมือนโปรยปรายจากสวนสวรรค์ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้จินตนาการกับบรรยากาศของสวนที่เปรียบเสมือนสวรรค์ ผ่านรูปแบบการจัดแสดง (Showcase) และสวนจำลอง (Pocket Garden) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The garden of heaven” ตลอดการจัดเทศกาล และวัดที่สองที่ร่วมจัดงาน วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ บางยี่ขัน ยังได้มีการสร้างสรรค์งานดนตรี ผ่านกิจกรรมที่หาชมได้ยาก การแสดงดนตรี จาก สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา นำโดย ผศ.ดร.อโณทัย นิติพน รองอธิการบดี สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และ การแสดงดนตรีลาวและอีสาน โดย ดนุเชษฐ์ วิสัยจร ร่วมกับ สุกัญญา สมไพบูลย์ และทีมนักดนตรีมหัศจรรย์ ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิต และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบางยี่ขัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังได้จัดให้นักท่องเที่ยว ได้รับชมการแสดงโขนจิ๋ว ตอน “สัมนักขาก่อศึก” โดย โรงวัฒนธรรมเทพากร ณ ลานวัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ซึ่งจะเป็นศิลปะชั้นสูงของไทย ซึ่งในวัดแห่งนี้นักท่องเที่ยว ยังจะได้รับชมเทคโนโลยี Projection Mapping ณ พระอุโบสถวัด ภายใต้แนวคิด “The Divine Journey : อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกลืม” ซึ่งจะมีการนำเรื่องราวที่เป็นความหมายของพระพุทธศาสนา ที่สื่อสัญลักษณ์ของอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสถาปัตยกรรมของสมัยอยุธยา ถูกซ้อนเร้นในวัด เพื่อให้เข้าถึงองค์ประกอบของการออกแบบสถาปัตยกรรมในสมัยโบราณ และสื่อความหมาย ของอาคารสถาปัตย์ ที่มีการทำฐานพระอุโบสถ ตกท้องช้าง หรือภาษาช่างเรียกว่า แอ่นท้องสำเภา ที่ใช้เทคนิค Interactive Lighting and Projection Mapping พร้อมไปกับการจัดแสดงแสงสี รอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเทคนิค Architectural Lighting โดยกลุ่ม Light IS and Friends
ภายในวัดพระยาศิริไอยสวรรค์ได้จัด Music and Performance บางยี่ขัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Melting-Pot Community : ความทรงจําและหลากหลายของชาติพันธุ์ในย่านบางยี่ขัน” เป็นการแสดงดนตรีประกอบการแสดงที่มีฉากหลังเป็นเจดีย์สามองค์ รูปทรงแตกต่างกัน ในพื้นที่บริเวณวัด ให้ได้รับชม ความสวยงามของลีลาการแสดงและดนตรี ด้วยสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า
สำหรับเทศกาล “UNFOLDING BANGKOK” ภายใต้การดำเนินงานของ CEA ได้จัดกิจรรมต่อเนื่องเพื่อรองรับ การเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างสรรค์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ถูกลืม และสามารถท่องเที่ยว ชมศิลปะได้ในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวสามารถติดตามกิจกรรมต่อเนื่อง ของเทศกาล “UNFOLDING BANGKOK” ซึ่งในธีมต่อไปได้ โดยจะพาไปเที่ยวสวนป่ากลางเมือง ในธีม “Greeting Benjakitti” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2566 และชมอาคารที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าความรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ ในธีม “Living Old Building” ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2566 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปี 2566