กรมการแพทย์จัดตั้ง "ศูนย์การแพทย์แม่นยำ" ทำหลักสูตรอบรมบุคลากร ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ ตรวจวินิจฉัยเฉพาะบุคคล พร้อมเร่งวิจัยยีนระดับ DNA ในกลุ่มโรคมะเร็งและโรคหายาก
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ว่า เป็นแนวคิดทางการแพทย์ที่นำเอาข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วยมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลแวดล้อม เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เป็นการรักษาแบบจำเพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งถูกกำหนดอยู่บนรหัสพันธุกรรม ต่างจากการแพทย์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันที่เป็นรักษาตามอาการ อาศัยองค์ประกอบตรวจวินิจฉัยพื้นฐาน 4 คำ คือ ดู คลำ เคาะ ฟัง และใช้ดูจากภาพลักษณ์ทั่วไป ดูภาพ ดูเสียง ดูแผล เป็นต้น ส่วนการแพทย์แม่นยำเริ่มจากการวินิจฉัย ป้องกันและรักษาโรคที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล อาศัยข้อมูลเชิงลึกทางพันธุกรรม เพื่อประเมินความเสี่ยง ลงรายละเอียดระดับยีนหรือระดับ DNA ของรายบุคคล จะเน้นการรักษาที่กลไกการเกิดโรคของแต่ละบุคคล จึงสามารถลดผลข้างเคียงของการรักษาได้ดีกว่าและแม่นยำกว่า
สำหรับเทคโนโลยีจีโนมิกส์ หรือวิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับ “การแพทย์แม่นยำ” เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสารพันธุกรรมหรือ DNA เพราะคนแต่ละเผ่าพันธุ์จะมียีนไม่เหมือนกัน นอกจากตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ยังตรวจหาความผิดปกติของยีนต่างๆ ตรวจหาความสัมพันธ์ของโรคและภาวะสุขภาพได้ ทำให้ได้ข้อมูลทางพันธุกรรมมาใช้ศึกษาหาสาเหตุและกลไกของโรคที่มาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ช่วยวินิจฉัยและทำนายโรค พัฒนายาและวิธีรักษาแบบใหม่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ทำให้การรักษาหรือป้องกันโรคเป็นแบบเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
นพ.มานัสกล่าวว่า กรมการแพทย์จัดตั้ง “ศูนย์การแพทย์แม่นยำ” มีดำเนินการหลักๆ คือ 1.พัฒนาหลักสูตรการแพทย์แม่นยำร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจเวชศาสตร์จีโนมิกส์ขั้นพื้นฐานให้บุคลากรในสังกัดกรมการแพทย์ นำความรู้ไปใช้วางแผนให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตรวจวินิจฉัยและรักษาแม่นยำ 2.ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยด้านการแพทย์แม่นยำ ทั้งงบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญและเครือข่าย ระยะแรกกำหนดโรคกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ มะเร็งและโรคหายาก วางแผนผลักดันเป็นนโยบายของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และ 3.จัดระบบบริการด้านการแพทย์แม่นยำ พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลรหัสพันธุกรรมมนุษย์ จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ด้านโรคมะเร็ง
"การแพทย์แม่นยำมีบทบาทตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนตลอดช่วงชีวิต เริ่มจากการตรวจรหัสพันธุกรรมเพื่อวางแผนครอบครัว ตรวจหาความเสี่ยงของทารก ตรวจหาโรคทางพันธุกรรมหรือโรคจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หาย ตรวจเพื่อป้องกันและวินิจฉัยโรค ตรวจหาสาเหตุและยาที่ได้ผลเฉพาะบุคคล ตรวจรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม/รังไข่ในกลุ่มเสี่ยง โดยตรวจความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 ช่วยให้แพทย์ออกแบบวิธีรักษาแบบกำหนดเป้าหมายเฉพาะบุคคล ทำให้อัตราการรอดและหายจากโรคสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย" นพ.มานัสกล่าว