"ไรเดอร์หญิง" สะท้อนถูกคุกคามทางเพศระหว่างทำงาน แต่ไร้กลไกช่วยเหลือ เกิดอุบัติเหตุเบิกค่ารักษายาก แถมไร้เงินทดแทนขาดงาน แบกภาระงานทั้งในและนอกบ้าน วอนสร้างระบบคุ้มครองสุขภาพและอุบัติเหตุจากการทำงาน มีกองทุนเงินทดแทน
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้ประสานงานแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เมื่อต้น ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมหัวข้อ “ชีวิตไรเดอร์หญิง การทำงาน และความต้องการด้านสุขภาพและความปลอดภัย” ภายใต้โครงการวิจัยรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง สนับสนุนโดย สสส. มีตัวแทนไรเดอร์หญิงจากแพลตฟอร์มต่างๆ เข้าร่วมให้มีโอกาสสะท้อนปัญหาและความต้องการในหลายมิติ ไรเดอร์หญิงบอกเป็นเสียงเดียวกันคือ คาดหวังว่าจะสามารถหารายได้พอเลี้ยงคนในครอบครัว อีกด้านคือมีภาระดูแลลูก พ่อแม่ ผู้สูงอายุในครอบครัว และถูกคาดหวังให้ทำงานบ้าน เช่น ต้องปิดระบบไม่รับงานช่วงดูแลส่งลูกไปกลับโรงเรียน กลับบ้านมาต้องทำงานบ้านอีก ทำให้ไรเดอร์หญิงเหนื่อยมาก เพราะต้องทำทุกอย่าง
ด้านนายวรดุลย์ ตุลาลักษ์ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า ไรเดอร์หญิงลำบากกว่าผู้ชายเรื่องห้องน้ำ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน การหาห้องน้ำสาธารณะทำให้เสียเวลา หลายคนต้องอั้นปัสสาวะทำให้มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีปัญหาสุขอนามัยช่วงมีรอบเดือน ส่วนอุบัติเหตุก็สำคัญรายหนึ่งสะท้อนเคยเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงานถึงขั้นสลบ ถูกนำตัวส่ง รพ. มีแผลเย็บที่ใบหน้าและคาง แขนและลำตัวถูกกระแทกบาดเจ็บ โดยให้เบิกค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ ถ้าเกินวงเงิน บริษัทถึงจะช่วยจ่าย แต่ต้องสำรองเงินไปก่อน และมีเงื่อนไขอีกมากที่จะเบิกเงินได้ ที่แย่คือต้องหยุดงาน 3 เดือน ขาดรายได้ ไม่มีอะไรรองรับ มีลูกกำลังกินกำลังใช้ ต้องเป็นหนี้สินเอามาใช้ประคองตัว
“การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกรับรู้ แทบทุกคนเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ ในทุกรูปแบบ ทั้งสายตา คำพูด แตะเนื้อต้องตัว และมีร้ายแรงถึงขั้นที่ถูกลูกค้าใช้กำลังยื้อยุดฉุดกระชาก ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยตนเอง หลายคนเลือกไม่รับงานช่วงกลางคืน ทำให้ขาดโอกาส รายได้ลดลง ยิ่งขับรถส่งคนด้วยจะเจอบ่อย เวลานั่งจะกระเถิบมาชิด เอามือมากอดเอว หรือการส่งอาหาร บางคนตั้งใจแต่งตัวไม่มิดชิดออกมา เพราะรู้ว่าคนที่มาเป็นผู้หญิง โดยเห็นจากชื่อและรูปในแอปพลิเคชัน โอกาสคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ง่ายในการทำงาน แต่ไม่มีกลไกคุ้มครอง" นายวรดุลย์กล่าว
นายวรดุลย์กล่าวว่า มีรายหนึ่งเล่าว่า เคยไปส่งอาหาร ลูกค้าผู้ชายลวนลาม แจ้งไปที่ศูนย์ความช่วยเหลือของบริษัท แต่ก็ไม่ทำอะไรกับลูกค้า แค่ป้องกันไม่ให้ลูกค้าคนนี้สั่งอาหารกับเธออีก แต่ทราบต่อมาว่าผู้ชายคนนั้นก็ไปทำกับไรเดอร์คนอื่นได้อีก ส่วนข้อเสนอความต้องการจองไรเดอร์หญิง ที่เร่งด่วนและพื้นฐานที่สุดคือ อย่างน้อยต้องมีการคุ้มครองด้านสุขภาพและอุบัติเหตุแก่ไรเดอร์ทุกคนเท่าเทียมกัน มีกองทุนเงินทดแทนเมื่อประสบอุบัติเหตุและขาดรายได้ บริษัทต้องมีนโยบายคุ้มครองสวัสดิภาพทางเพศและมีกลไกที่ปฏิบัติได้จริง หวังว่าการวิจัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมด้านของแรงงานพร้อมกับความเป็นธรรมทางเพศในเวลาเดียวกัน