สธ.เข้มแก้ปัญหาคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่สตรีสากล เผยปี 65 พบ 39 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่คุกคามทางวาจา ย้ำมีผลกระทบต่อจิตใจ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนละเมิดทางกายยอมรับไม่ได้ มีขั้นตอนลงโทษทางวินัย มีระบบให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รักษาความลับไม่ให้กระทบชื่อเสียง
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมรณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคลากรและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กร จึงเริ่มนโยบายและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 โดยกำหนดกลไกและมาตรการให้หน่วยงานและบุคลากรในสังกัดปฏิบัติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และมีระบบกำกับติดตาม เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี ปราศจากการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรณีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน มีขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยที่ยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความต้องการของผู้ถูกกระทำ มีกระบวนการจัดการปัญหาที่เป็นมิตร ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีระบบให้ความช่วยเหลือ โดยขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
"สธ.ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดรณรงค์เพื่อยุติและไม่อดทนต่อการกระทำที่ล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ ทั้งทางกายและวาจา โดยปี 2565 เราพบเหตุการณ์เกี่ยวข้อง 39 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการคุกคามด้วยวาจา จึงต้องย้ำเตือนบ่อยๆ ให้บุคลากรสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องระมัดระวัง บางครั้งการคุกคามด้วยวาจาซึ่งเดิมอาจคุ้นชินคิดว่าเรื่องปกติ แต่ผู้รับผลกระทบอาจรู้สึกไม่เหมือนกัน วาจาอาจดูไม่ใหญ่โตแต่มีผลกระทบจิตใจ ต้องเน้นย้ำต่อเนื่อง ส่วนละเมิดทางกายยอมรับไม่ได้ มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เป็นทางวินัยหรืออื่นๆ อย่างเข้มงวดต่อไป ย้ำว่าเมื่อเกิดเหตุเราดูทั้งผู้ถูกล่วงละเมิดและผู้ละเมิด โดยรับฟังให้ความเป็นธรรม ดูแลไม่ให้มีการคุกคามเพิ่มเติม การรักษาความลับส่วนบุคคลเป็นไปตามกรอบมาตรการสากล" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้หญิงระหว่างปี 2562 – 2564 จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance : IS) ใน รพ. 51 แห่งทั่วประเทศ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ผู้หญิงบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย กลุ่มอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ 20 – 24 ปี (ร้อยละ 15) วิธีการถูกทำร้ายมากที่สุดคือ การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย (ร้อยละ 60) สถานที่ถูกทำร้ายเป็นบริเวณบ้าน (ร้อยละ 63.4) ซึ่งเป็นบ้านผู้บ้านเจ็บเองกว่า (ร้อยละ 79.7) มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 11.3)
สำหรับความรุนแรงทางเพศพบว่า ผู้หญิงอายุ 10-14 ปี ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกายมากที่สุด (ร้อยละ 31.4) สถานที่เกิดเหตุคือที่บ้าน (ร้อยละ 62) เป็นบ้านตนเอง (ร้อยละ 45.8) และเป็นบ้านคู่กรณี (ร้อยละ 23.7) ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 18.00 - 20.59 น. มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 8) ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือการถูกทำร้ายในเด็กแรกเกิด - 4 ปี พบสาเหตุจากการถูกทำร้ายแรงทางเพศเฉลี่ยปีละ 19 ราย หรือคิดเป็น (ร้อยละ 34.8) จากสาเหตุการถูกทำร้ายที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เฝ้าระวัง การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย (ร้อยละ 32.9) และการถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม (ร้อยละ 10.4)
มาตรการในการป้องกันความรุนแรงจากการถูกทำร้ายนั้น ต้องเริ่มจากระดับบุคคล ต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของตนเองและคนรอบข้าง หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด ระดับครอบครัวคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ และการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรงระดับชุมชน ควรเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด รณรงค์การไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงเมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรง ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300