มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผนึกกำลังภาคีการพัฒนาเมือง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินหน้าโครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน” แก้ไขปัญหาทางเท้าและสะพานลอยจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลงใช้พื้นที่บางบัว–สะพานใหม่ ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร เป็นต้นแบบการพัฒนาสำรวจร่วมกับภาคประชาชนเพื่อออกแบบแก้ปัญหาตามให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง คงอัตลักษณ์ของชุมชน
วันนี้ (6 ธ.ค.) มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผนึกกำลังภาคีการพัฒนาเมือง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เดินหน้าโครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน” แก้ไขปัญหาทางเท้าและสะพานลอยจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ทางเท้าแคบ-บันไดสะพานลอยขวาง ใช้พื้นที่บางบัว–สะพานใหม่ ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร เป็นต้นแบบการพัฒนาสำรวจร่วมกับภาคประชาชนเพื่อออกแบบแก้ปัญหาตามให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง คงอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อทุกคน ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในการเดินทาง คนพิการไม่มี หากช่วยกันแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมพิการ ได้ตรงจุดและยั่งยืน เชื่อมโยงการเดินสัญจรทั่วถึง ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเส้นทาง แบบไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการสัญจรที่สะดวกปลอดภัย มุ่งเป็นโมเดลต้นแบบงานปรับปรุงเฉพาะจุด จัดระบบสาธารณูปโภคโดยไม่ต้องรื้อถอนทั้งระบบ ปลดล็อกแก้ปัญหาทางเท้าอย่างยั่งยืน สอดรับกับการพัฒนาเมือง
อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีปทุม กล่าวว่า การนำเสนอโครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ปรับปรุงพื้นที่ทางสัญจรริมถนน กรณีต้นแบบบางบัว – สะพานใหม่ เกิดจากการผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ-เอกชน และภาคประชาชน โดยความร่วมมือจาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และประชาชนในพื้นที่ สำรวจปัญหาพื้นที่ทางสัญจรบางบัว–สะพานใหม่ บนแนวคิดรูปแบบการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด โดยจะแก้ปัญหาทางเท้า และสะพานลอยใน 3 ลักษณะหลัก คือ การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางบนทางเท้า รวมถึงปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก และขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคารริมทางสัญจร บนโรดแมปการแก้ไขที่เห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายใช้เป็นโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาทางเท้าเฉพาะจุดให้ทุกคนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยที่นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนา ผลิตนักศึกษา สร้างบุคลากรคุณภาพสู่สังคมแล้ว อีกหนึ่งด้านที่ยังคงให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนาชุมชน และสังคม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ตามภารกิจของสหประชาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับหลัก ESG แนวคิดการพัฒนาพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วนเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งหากบริษัทเอกชนหันให้ความสำคัญร่วมมือปรับปรุงพื้นที่สัญจรของตัวเองเป็นอีกหนึ่งโครงการ ESG ที่เป็นรูปธรรมทำเพื่อชุมชน สังคมรอบข้างได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยังยืน SDGs ตามแนวทางขององค์กรสหประชาชาติ และให้พื้นที่ชุมชนโดยรอบ โดยรับรู้ถึงปัญหาขาดความสะดวกสบายในการใช้ทางเท้า บริเวณบางบัว–สะพานใหม่ ของชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงเส้นทางเท้าริมถนน และติดกับสถานีรถไฟฟ้าที่มีผู้ใช้เส้นทางในการเดินทางจำนวนมาก ทั้งกลุ่มประชาชนวัยเรียน วัยทำงาน ผู้พิการ และผู้สูงอายุมาโดยตลอด ประกอบกับคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจ วิจัย และออกแบบ จึงเป็นตัวเชื่อม กทม. มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่มาร่วมสำรวจและวางแผนการแก้ไขทางเท้าให้เป็นมิตรต่อการเดินทางของทุกคน หากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ โครงการนี้นำร่องเป็นมาตรฐานโครงการต้นแบบ ปลดล็อกการแก้ปัญหาทางเท้าทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน บนความร่วมมือของทุกภาคส่วน และเป็นต้นแบบให้เอกชนออกมาเชื่อมโยงประสานความร่วมมือหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขทางสัญจรในพื้นที่ของตังเอง โดยที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ถาวรและรวดเร็ว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคหลายส่วนทั้ง ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร รวมถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ การดำเนินการแก้ไขบนความร่วมมือเป็นทางออกสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้ และหวังว่าโครงการนี้จะการเป็นตัวจุดประกายให้พื้นที่อื่นๆร่วมมือกันปรับทางเท้าบริเวณชุมชนของตนเองในทั้งในพื้นที่ กทม. และต่อยอดไปทั่วประเทศ
นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์ กล่าวเพิ่มเติม “ด้วยรูปแบบผังเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ส่งให้ทางเท้า แคบลง มีสิ่งกีดขวาง พื้นขรุขระ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองไม่สะดวกและขาดความปลอดภัย ปัจจุบันพบปัญหาที่ผู้พิการและผู้สูงอายุในการสัญจรทางเท้า เช่น ผู้ใช้วีลแชร์สัญจรไม่ได้เพราะบันไดสะพานลอยกีดขวางทำให้ทางเท้าแคบลง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆบนทางเท้า ถูกขยับขยายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เอื้อต่อผู้ใช้ทางเท้า ทั้งนี้การเชื่อมโยงทางสัญจรให้สามารถเชื่อมโยงใช้งานกันอย่างทั่วถึงไร้รอยต่อ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย หากมองว่าคนพิการไม่มี แต่มีเพียงสภาพแวดล้อมที่พิการ หากร่วมมือแก้ไขสภาพแวดล้อมที่พิการได้จะเป็นแก้ปัญหาทางสัญจรที่ยั่งยืน ทำให้กทม.เป็นหนึ่งในเมืองหน้าอยู่บนหมุดแผนที่โลกได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้การคำนึงถึงการออกแบบทางเท้าให้สามารถรองรับการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตามหลักออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ดังนั้น การออกแบบอารยสถาปัตย์ในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการใช้งานที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ใช้งาน วัสดุอุปกรณ์ ราวจับ ความลาดชัน รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อความสะดวกให้การเดินทางตามวัตถุประสงค์ของ โครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน”
นายประสิทธิ์ อินทโฉม รองผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบคมนาคมทั้งรถเมล์ชานต่ำและรถไฟฟ้าที่พร้อมจะส่งคนพิการไปยังจุดหมาย รวมถึงได้เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงทางเท้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนพิการเดินทางได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ ลดการพึ่งพาผู้อื่น แต่การพัฒนาเมืองและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เอื้อต่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต การปรับปรุงเส้นทางการจราจร การตัดถนน อาจทำให้ทางเท้าซึ่งสร้างตามมาตรฐานไปกระทบการใช้งานของประชาชน การขยายความกว้างถนนทำให้ทางเท้าแคบลง บันไดสะพานลอยกลายเป็นสิ่งกีดขวาง ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า การติดตั้งเสาไฟ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ บนพื้นที่ทาง ทำให้การใช้งานทางเท้าเปลี่ยนแปลงไป
สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมลงพื้นที่ศึกษา บนเส้นทางบางบัว-สะพานใหม่ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกลุ่มคนพิการผู้ใช้ทางเท้า เพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งปัญหาโดยตรงและทางอ้อมจากประชาชน นำไปสู่การพัฒนารูปแบบให้สอดรับกับความต้องการ ในเบื้องต้นเสนอแก้ปัญหาทางเท้าและสะพานลอยใน 3 ลักษณะหลัก ๆ ประกอบด้วย การปรับสิ่งกีดขวางบนทางเท้า / ปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก และขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคาร โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ยื่นเสนอกับกรุงเทพมหานคร พร้อมรับความเห็นชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาลักษณะปัญหาอื่นๆตลอดเส้นทาง เพื่อนำร่องพัฒนารูปแบบมาตรฐานในการแก้ปัญหา นำไปปรับปรุง และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป โครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ถือเป็นโครงการต้นแบบการผนึกกำลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันสำรวจและออกแบบแก้ไขร่วมกัน บนการเดินหน้านโยบายปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ทางเท้า รวมถึงปรับปรุงสะพานลอยให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคน และคงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน สอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน และจะกลายเป็นโครงการการนำร่องต้นแบบการจัดการเส้นทางสัญจรบนทางเท้า