"อธิบดีเจ้าท่า" ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือราชินี พายัพ และบางโพ เสร็จปลายปีนี้ สะดวก สวยงาม ทันสมัย Landmark ใหม่ หนุนท่องเที่ยวทางน้ำเป็นท่าเรือแห่งความสุข : HAPPY PIER " มอบของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ท่าเรือราชินี ท่าเรือพายัพ และท่าเรือบางโพ ซึ่งทั้ง 3 ท่าเรือเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น
นายสรพงศ์เปิดเผยว่า แผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562-2567 เป็นสถานีเรือ จำนวน 29 ท่าเรือ ให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามเกิดเป็นจุดหมายตา (Landmark) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก (อารยสถาปัตย์) สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น มีความสะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ
ซึ่งในปลายปี 2565 นี้จะปรับปรุงและพัฒนาแล้วเสร็จอีกจำนวน 3 ท่าเรือ พร้อมมอบเป็น "ท่าเรือแห่งความสุข : HAPPY PIER" เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนในปี 2566 ดังนี้
ท่าเรือราชินี เป็นหนึ่งในท่าเรือที่ได้รับการยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier ในจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการขนส่ง เรือ-ราง-ล้อ ที่สมบูรณ์แบบ เชื่อมต่อระหว่างเรือโดยสาร รถโดยสารประจำทาง และ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สถานีสนามไชย) โดยการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือราชินี ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ได้แก่
1. ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ 1,277 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่ดาดฟ้าหลังคา ให้เป็นลานกิจกรรมใช้ประโยชน์เป็นจุดชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมตกแต่งภายในบริเวณอาคารพักคอยเน้นความเป็นไทย มีระบบควบคุมและการให้บริการที่ทันสมัย
2. ก่อสร้างทางเดินเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่บนฝั่งจุดเชื่อมต่อทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย พร้อมซุ้มประตูทางเข้าท่าเรือให้มีความเป็นเอกลักษณ์
3. ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 9x24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับขึ้นลงโป๊ะเทียบเรือ จำนวน 1 โป๊ะ
ท่าเรือพายัพ ได้ยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย แต่ยังปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณทางเข้าท่าเรือ และติดตั้งระบบต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารทุกคน
สำหรับการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือพายัพ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ได้แก่
1. ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 1 ชั้น พื้นที่ประมาณ 270 ตารางเมตร โดยปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือพายัพให้มีความเหมาะสม สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย รูปแบบสอดคล้อง กลมกลืนกับพระราชวังพายัพ รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์หรือสถาปัตยกรรมโบซาร์ (Beaux Arts) ใช้ประติมากรรมสมัยใหม่ผสมผสานกับศิลปะนีโอคลาสสิก ภายในออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย
2. โป๊ะเทียบเรือรูปตัวแอลขนาด 9.4x24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 1 ชุด
ท่าเรือบางโพ ได้ยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย (โมเดิร์น) ให้มีมาตรฐานและความปลอดภัย พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเรือโดยสาร รถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สถานีบางโพ)
โดยการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือบางโพ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ได้แก่
1. ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 1,407 ตารางเมตร
2. โป๊ะเทียบเรือรูปตัวแอลขนาด 9.4x24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 1 ชุด
ทั้งนี้ นับแต่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มุ่งมั่นดำเนินการก่อสร้างปรับปรุง และพัฒนายกระดับท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง สู่ “ท่าเรืออัจฉริยะ” หรือ Smart Pier ทั้งในส่วนของท่าเรือ ตัวเรือ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) พร้อมทั้งรูปลักษณ์ที่สวยงาม ตามหลักอารยสถาปัตย์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นอย่างไร้รอยต่อ และสามารถเข้าถึงได้ของคนทั้งมวล และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 3 ท่าเรือ กรมเจ้าท่าพร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ประชาชน เพื่อสร้างทางเลือก และความสุขในการเดินทาง สมคำที่ว่า "ท่าเรือแห่งความสุข : HAPPY PIER" พร้อมเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน