สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ ประกาศคุมช่อดอกกัญชา ยังน่ากังวล ชง 3 กระทรวง คุมเข้มอาหารผสมกัญชา ปรับเพิ่มข้อความในประกาศ เพิ่มมาตรการควบคุมการขายที่ไม่สามารถยืนยันอายุผู้ซื้อ คุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีการปลดล็อกกัญชาเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา และทำให้ส่วนของพืชกัญชง กัญชา สามารถซื้อขายและสามารถผสมลงในอาหารต่างๆ รวมทั้งใช้เพื่อสันทนาการได้ หลังที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยส่งข้อห่วงใยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึง รมว.สธ.แล้วเช่นเดียวกัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 แต่เห็นว่ายังไม่สามารถควบคุมหรือคลี่คลายความกังวลของสังคมในการทำให้กัญชาเสรีได้ เนื่องจากยังมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านลบจำนวนมาก
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงส่งข้อเสนอมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำพืชกัญชา กัญชงมาเป็นวัตถุดิบในอาหาร โดยสนับสนุนการใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงที่กำหนดการห้ามให้ใช้ช่อดอกในผลิตภัณฑ์อาหาร ขอให้ใช้แนวปฏิบัตินี้ออกกฎกระทรวง, ประกาศกระทรวง และ ประกาศ อย., เห็นควรปรับคำแนะนำอายุในการบริโภคผลิตภัณฑ์กัญชาหรือกัญชง ดังนี้ “บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี ควรงดเว้นรับประทาน” ในการแสดงฉลากและคำเตือนในทุกประกาศของ สธ.
นอกจากนี้ ควรเพิ่มข้อความในประกาศ สธ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ในข้อ 6/2 ว่า ห้ามใช้ช่อดอกกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร รวมถึงการเพิ่มคําที่ไม่อนุญาตในการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารกัญชา หรือกัญชง ในประกาศ อย. เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2561 เช่น ต้านอนุมูลอิสระ คลายเครียด คลายหงุดหงิด คลายกังวล อารมณ์ดี/อารมณ์ดีแน่นอน นอนหลับสบาย ผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด และขอให้ สธ.ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพิ่มมาตรการควบคุมการขายและออกประกาศห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหรืออาหารผ่านตู้อัตโนมัติ ร้านค้าในตลาดออนไลน์ทุกช่องทางที่ไม่สามารถยืนยันอายุของผู้ซื้อและมีการโฆษณาเกินจริง ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการกำหนดอายุผู้ซื้อและเพิ่มบทลงโทษการฝ่าฝืนด้วย
นอกจากนี้ ขอให้ สธ.และกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาวิจัยส่วนประกอบสำคัญในกัญชาและกัญชง เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของสารสำคัญในกัญชาและกัญชงที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว เพื่อให้มีค่ามาตรฐานที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อปริมาณการบริโภคทุกช่วงวัย โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ เด็ก เยาวชน และกลุ่มอ่อนไหวอื่นๆ ทั้งนี้ ขอให้ สธ.ตั้งสำนักงานติดตามตรวจสอบและรายงานอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการบริโภคกัญชา กัญชง ร่วมกับภาคีต่างๆ และภาคประชาสังคม รวมทั้งเปิดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาสามารถร้องเรียนได้