โฆษก กก.สื่อสารการใช้กัญชา เผย ประกาศ สธ.สมุนไพรควบคุมฉบับใหม่ คุมเฉพาะช่อดอก-การจำหน่ายต้องขออนุญาตและต้องทำตามหลักเกณฑ์ ชี้ เป็นหลักประกัน ไม่ว่าร่า งพ.ร.บ.กัญชาฯ ผ่านสภาหรือไม่ สธ.ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนออกมาตรการควบคุมเหมาะสม
วันนี้ (14 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องการควบคุมกัญชา โดยมีเนื้อหาระบุว่า “ปานเทพ” แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข “กัญชา” สมุนไพรควบคุมฉบับใหม่ คุมเฉพาะช่อดอก-การจำหน่ายต้องขออนุญาตและต้องทำตามหลักเกณฑ์
ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับล่าสุดที่ลงโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นั้น จะขออธิบายเนื้อหาสาระเพิ่มเติมาสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ดังต่อไปนี้
ประการแรก เป็นการยกเลิกประกาศให้ “กัญชาทั้งต้น” เป็นสมุนไพรควบคุมในฉบับเก่า (ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕)[1] เป็นการประกาศเหลือเฉพาะ “ช่อดอก” ของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสมุนไพรควบคุม [2]
ดังนั้น ใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด จะไม่เป็นสมุนไพรควบคุมอีกต่อไป แปลว่าการจำหน่ายใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด หรือแม้แต่ต้นกัญชาที่ยังไม่มีช่อดอก ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการค้าหรือไม่ใช่การค้า จะไม่อยู่ในสถานภาพ “สมุนไพรควบคุม” อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม กัญชา และกัญชง ได้ถูกประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้กำหนดให้กัญชา กัญชง เป็นเมล็ดพ้นธุ์ควบคุม ที่ความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ และความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๙ และต้องเก็บรักษาในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ [3]
ประการที่สอง การศีกษา วิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชา “เพื่อการค้า” จะทำได้ต้องขออนุญาตทุกกรณี [2]
ดังนั้น ผู้ที่ทำการศึกษา วิจัย ช่อดอกกัญชาที่ไม่ใช่ “เพื่อการค้า” ก็ไม่ต้องขออนุญาต
ประการที่สาม ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป “ช่อดอกกัญชา” เพื่อการค้า จะต้องจัดทำข้อมูล “แหล่งที่มา, การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ในสถานประกอบการ” แล้วรายงานต่อกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ทราบ [2]
สำหรับประเด็นนี้เป็นไปเพื่อการดูแลแหล่งที่มาของช่อดอกกัญชา เพื่อควบคุมไม่ให้กัญชาในตลาดมืดที่ไม่รับผิดชอบต่อการปนเปื้อนสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งกัญชาใต้ดินที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตในการจำหน่าย
ประการที่สี่ คุ้มครองคนกลุ่มเปราะบาง โดยห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร รวมถึง นิสิต หรือนักศึกษา [2]
ประการที่ห้า ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา “เพื่อการสูบ” ใน “สถานที่ประกอบการ” เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ (สำหรับรักษาสัตว์) [2]
สำหรับประเด็นนี้ได้ยอมรับว่า “การสูบ” เป็นกรรมวิธีหนึ่งของการรักษาโรค ซึ่งเป็นไปตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และรวมถึงการแพทย์แผนปัจจุบันในต่างประเทศ รวมถึงการสูบกัญชายังเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อรักษาบำบัดยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) เช่น ยาบ้า แอลกอฮอล์ ฯลฯ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา ๒๕ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้ การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณ ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ [4]
ตัวอย่างเช่น หากสูบกัญชาในที่สาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๗๔ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [5]
ประการที่หก ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาผ่านเครื่องขายอัตโนมัติ (Vending Machine) [2] อยู่ภายใต้หลักคิดที่ว่า เครื่องขายอัตโนมัติยังไม่สามารถเชื่อมั่นได้ดีพอว่า มีการวิเคราะห์หรือตรวจสอบกลุ่มเปราะบางได้
ประการที่เจ็ด ห้ามโฆษณา “ช่อดอกกัญชา” เพื่อการค้า [2] ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ
ประการที่แปด ควบคุมสถานที่ห้ามจำหน่าย “ช่อดอกกัญชา” หรือสินค้าแปรรูปจากช่อดอกเพื่อการค้า ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (ทุกศาสนา) หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก [2]
ประการที่เก้า สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป “กัญชาทั้งต้น” ในรูปแบบสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า “มาก่อนหน้านี้” ใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้
ประการที่สิบ การไม่ขออนุญาต “ช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า” ตามหลักเกณฑ์ของสมุนไพรควบคุมที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ มีบทลงโทษตามมาตรา ๗๘ ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [6]
ประการที่สิบเอ็ด เมล็ดกัญชาและช่อดอกกัญชา ยังอยู่ในบัญชีให้เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย “เพื่อการผสมในอาหาร” ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ [7]
ส่วน เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบที่ไม่มีช่อดอกติดของกัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชาที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักไม่อยู่ในบัญชีต้องห้ามในอาหาร [6]
โดยผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือจำหน่ายช่อดอก “เพื่อการผสมอาหาร” ย่อมมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๒ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท [7]
ประการที่สิบสอง ทั้งกัญชาและกัญชงทั้งต้นจัดเป็น “สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕ ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐ หรือเพื่อการศึกษาของสถาบันการศึกษาและการวิจัย [9]
ดังนั้น ผู้ใดลักลอบนำเข้า “สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” จึงย่อมเป็นการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษตามมาตรา ๙๑ ของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [10]
ประการที่สิบสาม สำหรับการนำกัญชาที่แม้จะไม่ใช่ช่อดอก หรือที่ไม่ใช่สารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) เกินกว่าร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักมาผสมในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ [7]
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในส่วนของ “กัญชา” และ “กัญชง” ที่ผสมในอาหารนั้น ได้กำหนดปริมาณของสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และ สารแคนนาบิไดออล (CBD) ของผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภทเอาไว้โดยละเอียดแล้ว [11]-[17]
นอกจากนั้น สำหรับร้านอาหารจะต้องแสดงป้ายที่นำกัญชามาประกอบอาหาร แสดงรายการเมนูที่มีกัญชา รวมถึงคำแนะนำความปลอดภัยในเรื่องกัญชา อันเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕[ 18]
ดังนั้น อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร และการปรุงอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ประการที่สิบสี่ สำหรับการนำกัญชามาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แจ้งสรรพคุณ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ [10] และหากเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘ [19] และประกาศกระทรวงสาธารณสุขการใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง [20]
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นี้ เป็นการประยุกต์ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยมีความสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร
การออกประกาศฉบับนี้ ยังคงเป็นหลักประกันอีกด้วยว่า ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. ฉบับของคณะกรรมาธิการ จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเกมการเมืองอย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่ได้พยายามออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมตามอำนาจและกฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่แล้ว
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
อ้างอิง
[1] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๓๗ ง, หน้า ๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/137/T_0009.PDF
[2] ผู้จัดการออนไลน์, “อนุทิน” ลงนามแก้ประกาศ สธ.เพิ่มคุม “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม, เผยแพร่: ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๒๓ น.
https://mgronline.com/qol/detail/9650000108013
[3] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง, หน้า ๕
https://www.doa.go.th/.../2021/08/Q.6-Canabis-2564.pdf
[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควัน กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ, ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
https://cannabis.fda.moph.go.th/.../06/Law_T0002_150665.pdf
[5] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A136/%A136-20-9999-update.pdf
[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๔๙-๖๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF
[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๕ ง, หน้า ๓๒ และ บัญชีท้ายประกาศหน้า ๓ และ ๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/045/T_0032.PDF
[8] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒
http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=393573&ext=pdf
[9] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง, หน้า ๒๑
https://cannabis.fda.moph.go.th/.../2022/06/T65_0021.pdf
[10] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒, ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๖ ก, หน้า ๑๒๑-๑๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2562/A/056/T_0121.PDF
[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง, ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๒-๒๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/168/T_0022.PDF
[12] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนชนิดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล และสารแคนนาบิไดออล, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๕-๒๖
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/168/T_0025.PDF
[13] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๘) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๑-๓๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/251/T_0031.PDF
[14] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๕) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ดกัญชง, ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๙ ง, หน้า ๑-๗
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P425.PDF
[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๗) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ด กัญชง (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๒๙-๓๐
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P437.PDF
[16] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๙) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ, ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ง, หน้า ๙-๑๑
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P429.PDF
[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๔
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P439.PDF
[18] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕, เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/198/T_0006.PDF
[19] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘, ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๘๖ ก, หน้า ๕-๒๕
https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared%20Documents/Laws/พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง%20พ.ศ.%202558.pdf
[20] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๐๕ ง, หน้า ๒-๓
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2021/05/PK64MOPH-CosmeticsHemp-180564.pdf