ภาคประชาชน หลายร้อยรวมตัวหนุนเดินหน้า “พ.ร.บ.กัญชาฯ” หวังสร้างความชัดเจนในการควบคุมดูแล ชี้ เป็นหน้าที่ของสภา ในการพิจารณากฎหมาย ขอพรรคการเมือง คำนึงประโยชน์ประชาชน มากกว่ามุ่งเอาชนะทางการเมือง
วันนี้ (14 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่สวนครูองุ่น ทองหล่อซอย 3 ประชาชนประมาณ 250 คน ได้เดินทางมาร่วมฟังการเสวนาเรื่องความจำเป็นของการมีกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชาฯ เพื่อการควบคุมการใช้กัญชากัญชาในประเทศไทย จัดโดยภาคีประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … นายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย, ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต และโฆษก กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …
ทั้งนี้ ภายในงาน มีการแถลงการณ์จากภาคประชาชน นำโดย นายประสิทธิ์ชัย เพื่อสนับสนุนให้สภาเดินหน้าพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … แทนการเลื่อนการพิจารณา หรือการตีตก ระบุว่า
ถึงหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร 1. หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 2. หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 3. หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 4. หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 5. หัวหน้าพรรคก้าวไกล 6. หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย 7. หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา 8. หัวหน้าพรรคเสรรวมไทย 9. หัวหน้าพรรคประชาชาติ 10. หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ 11. หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ 12. หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคอื่นๆ ที่มิได้เอ่ยถึง
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านวาระการพิจารณาในวาระแรกของกฎหมายร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...ที่เสนอโดยพรรคการเมืองและเพื่อให้เกิดการจัดทําพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้น ตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งกรรมาธิการจากพรรคการเมืองขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
เมื่อกรรมาธิการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... เสร็จสิ้นแล้วควรที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้เปิดร่างเพื่อการอภิปรายอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นธรรมเนียมและหลักปฏิบัติทางนิติบัญญัติที่ยึดถือกันตลอดมา โดยหากมาตราไหนยังมีข้อบกพร่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถช่วยกันอภิปรายเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและเมื่อพิจารณาทุกมาตราแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ควรบังคับใช้สามารถลงมติไม่ผ่านการพิจารณาได้ การเปิดร่างเพื่อพิจารณารายละเอียดจึงเป็นการแก้ปัญหาทั้งมวล เพราะตามการสื่อสารในช่องทางต่างๆ พรรคการเมืองมีความเห็นแตกต่างกันแต่ไม่เปิดเนื้อหามาพูดคุยกัน ซึ่งประชาชนรู้สึกแปลกใจว่าวิธีแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด คือการเปิดเนื้อหามาร่วมกันพิจารณา
ทั้งนี้ การเปิดเนื้อหาดังกล่าวจะทำให้ประชาชน สามารถรับรู้เนื้อหาสาระได้ด้วย เพราะข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร หากร่างพ.ร.บ.ไม่เข้าสู่วาระการพิจารณาจะไม่สามารถเปิดเผยสาระของ พ.ร.บ.สู่สาธารณะได้ ฉะนั้นการที่ ส.ส. ลงมติไม่พิจารณาเท่ากับปิดการรับรู้ของประชาชนไปด้วยทำให้ หนังสือของประชาชนฉบับนี้มิได้เรียกร้องอันใดที่เกินเลยไปกว่าบทบาท กฎหมายฉบับนี้ประชาชนไม่ได้รับรู้ว่าเนื้อหาสาระเป็นเช่นไร หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงกระทำ นั่นคือ เมื่อมีมติของสภาไปแล้วในวาระแรก ให้กรรมาธิการจัดทําร่าง พ.ร.บ.
ฉะนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรพิจารณาสาระของ พ.ร.บ.ตามที่ได้มอบหมายให้กรรมาธิการจัดทำ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ไม่เป็นประโยชน์อันใดเลยต่อประเทศชาติกับการที่พรรคการเมืองมุ่งสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น โดยไม่ลงมือพิจารณาตัวกฎหมาย หากพรรคการเมืองใดวิตกกังวลอันใด ต้องใช้กลไกของสภาทําให้ยุติ อย่าได้ปล่อยให้กัญชาไม่มีกฎหมายควบคุม และหากพรคการเมืองมีจุดยืนว่าจะต้องไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพื่อให้เกิดปัญหาและสามารถนำปัญหานั้นไปโจมตีพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง การกระทําเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์อันใดเลยต่อประเทศนี้ในฐานะผู้แทนราษฎร
เครือข่ายประชาชนจึงขอเรียนมายังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทุก พรรคการเมือง ขอให้เปิดร่างพิจารณาสาระของ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง...รายมาตรา เพื่อ ให้สังคมไทยมีกฎหมายควบคุมกัญชาเชิงระบบ หากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ การแปรรูปหรืออื่นใดจากกัญชา โดยไม่มีกฎหมายมาควบคุมย่อมต้องเป็นความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด มิได้เป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมืองใด เพราะสภาได้แต่งตั้งกรรมาธิการของสภาเอง ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.มิใช่มอบหมายให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดไปจัดทำกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด
สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องรับผิดชอบต่อการมอบหมายให้กรรมาธิการของสภาไปจัดทําร่าง พ.ร.บ.และความรับผิดชอบที่พื้นฐานที่สุด คือ การเปิดร่างพิจารณารายมาตรา ขอจงละเว้นผลประโยชน์อันใดที่เกิดขึ้นแก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ด้วยการไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ขอจงละเว้นผลประโยชน์ส่วนพรรคการเมืองด้วยการ คํานึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนด้วยการเปิดร่างพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... เพื่อให้สังคมไทยมีกฎหมายควบคุมกัญชา
ทั้งนี้ บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก โดยทาง นายแพทย์ปัตพงษ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นยาในกัญชา ซึ่งอยู่คู่สังคมโลก และสังคมไทย มาหลายปี ก่อนที่จะถูกบิดเบือนให้กลายมาเป็นยาเสพติด โดยทางการสหรัฐฯ ซึ่งไม่ฟังเสียงทัดทานจากแพทย์ในสมัยนั้น และก็เป็นสหรัฐฯ นี่เอง ที่กลับมาคลายล็อกกฎหมาย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้
“ปี ค.ศ. 1899 หรือเมื่อ 123 ปีมาแล้ว บริษัท เมิร์ค ได้จัดทำคู่มือทางการแพทย์บรรยายสรรพคุณของตำรับยากัญชาที่ตนผลิตจำหน่ายในขณะนั้นว่า สามารถใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ เพ้อคลั่ง และเพี้ยน
ปี ค.ศ. 1969 หรือเมื่อ 53 ปีมาแล้ว นพ.ท็อด มิคูริยา จิตแพทย์แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ค้นคว้างานวิจัยที่ตีพิมพ์ในช่วงศตวรรษที่ 18 พบว่า มีการกล่าวถึงสรรพคุณของกัญชาว่า รักษาโรคได้มากกว่า 12 กลุ่มโรค รวมทั้งโรคทางจิตเวช และการนำไปใช้บำบัดยาเสพติด ผลงานนี้ถูกนำเผยแพร่อย่างกว้างขวางจนทำให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียแก้กฎหมายสำเร็จ สามารถนำเอากัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เป็นรัฐแรก หลังจากที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลผลักดันจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด เมื่อปี ค.ศ. 1946 เป็นเวลายาวนานถึง 50 ปี
ปี ค.ศ. 1981 หรือเมื่อ 41 ปีมาแล้ว ที่นักวิจัยแห่งประเทศบราซิล ชื่อ ซาดี้ ตีพิมพ์ผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าสารในกัญชา ที่ชื่อ ซีบีดี สรรพคุณยับยั้งอาการเมาและอาการหลอนที่เกิดจากสารในกัญชาที่ชื่อ ทีเอชซี ดังนั้น จึงเกิดความคิดว่า “ซีบีดี” น่าจะมีสรรพคุณรักษาโรคจิตได้ เขาจึงมุ่งศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและตีพิมพ์ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของกัญชาในการรักษาบรรเทาอาการโรคจิตและโรคทางจิตเวชอื่นๆ อีกหลายเรื่อง”
ขณะที่ นายอัครเดช เรียกร้องให้มีการให้ความรู้กับประชาชน มากกว่าการพยายามนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ส่วนตัวเป็นโรคไมเกรนขั้นรุนแรง ตอนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ คุณหมอสั่งให้ใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษา จึงมองเห็นประโยชน์ของกัญชาและขับเคลื่อนเรื่อยมา พอมาอยู่ประเทศไทย ได้ถามแบบสอบถามเรื่องกัญชาเสรีกับคนไทย พบว่า 80% ไม่เห็นด้วย พอลงลึกไปในรายละเอียด ถึงรู้ว่า เขาไม่เข้าใจ เขามีประสบการณ์ไม่เหมือนเรา ซึ่งมันน่าเสียดาย เพราะนี่คือยาที่ทุกคนควรจะได้ใช้ นี่คือโอกาสของคนเจ็บป่วย
“กับพรรคภูมิใจไทย ผมถือว่า มีความกล้าหาญมาก อันที่จริง เราแค่หวังว่าจะให้เลิกโทษคนที่ครอบครองกัญชาเพียงเล็กน้อย เพื่อเปิดโอกาสในการใช้ทางการแพทย์ เนื่องจากเมื่อก่อน กลายเป็นพวกเรานี่เองที่เป็นเหยื่อการรีดไถจากฝ่ายปกครอง แต่ทางพรรคผลักดันไปได้ไกลกว่าที่คิดไว้มาก เป็นเรื่องน่าชื่นชม เอาเข้าจริงเรื่องกัญชากลับประเทศไทย มันมีการปลูก ขาย กันมานาน แต่คนส่วนน้อยมากๆ ที่ได้ประโยชน์มหาศาลตรงนี้ ที่พรรคทำ มันเป็นการกระจายโอกาสให้ทุกคน เราอย่ามาปฏิเสธเลยว่าในแหล่งท่องเที่ยวมันปลอดกัญชา เพราะความจริงมันมี และมีมาตลอด แต่ทำไมไม่ทำให้มันถูก จะมาหลบๆ ซ่อนๆ แล้วให้คนบางคนได้ประโยชน์แค่คนเดียวกลุ่มเดียวทำไม เอาขึ้นมา แล้วเอากฎหมายไปจัดการ นี่คือเรื่องที่ควรทำ แต่มาถึงตอนนี้ มันเห็นแล้ว ว่ามันมีการไม่ยอมรับกันเกิดขึ้น ระหว่างคนที่ใช้ กับคนที่ไม่เข้าใจ ก็ต้องให้ข้อมูลกัน กับภูมิใจไทย ผมมองว่าต้องใช้ 10 ปี ในการทำเรื่องกัญชา แต่เขาทำได้เลย แต่กว่าจะจะยอมรับกันได้ คงต้องเหนื่อยหน่อย นี่คือสิ่งที่ต้องแลก การโดนค้าน โดนต้าน โดนด้อยค่า ที่สุด ก็ขอให้ทุกคนเปิดใจ แล้วมาถกกันบนข้อมูล”
ขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต และโฆษก กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ให้ความเห็นว่า
การที่เราปลดล็อกกัญชาออกมาได้นั้น มันไม่ใช่ว่าคิดทำกันเพราะคนไม่กี่คน แต่มันมาจากทั้งสภาดันกันออกมา การที่กัญชาได้ถูกกำหนดให้ออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 29 ประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยไม่ปรากฏชื่อกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 อีกต่อไป ตามมติประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยการลงมติในครั้งนั้นไม่ปรากฏขอให้มีการแก้ไขจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์แม้แต่คนเดียว และต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีการแก้ไขทั้งฉบับในวาระที่สามด้วยคะแนน 467 เสียง อย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ได้ลงมติคัดค้านแม้แต่คนเดียวเช่นกัน
ขอย้ำว่า หากสมาชิกรัฐสภาไม่มีมติให้แก้ไขการลบกัญชาออกจากมาตรา 29 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2564 แล้ว กัญชาก็จะยังคงเป็นยาเสพติดต่อไปจนถึงปัจจุบันอย่างแน่นอน เท่ากับว่า ท่านเองก็เห็นดีเห็นงามแต่มาเปลี่ยนจุดยืนเอาตอนท้าย ท่านตอบตัว่ทานได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น ส่วนที่ท่านมาเป็นห่วงกังวลสังคมกัน ตนขอขอบคุณการออกประกาศกระทรวงฯ ล่าสุด เพราะท่านไม่รอเรื่อง พ.ร.บ. แต่ท่านได้นำเอาสิ่งดีๆ ใน พ.ร.บ.มาประกาศใช้ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองการใช้ในเด็กและเยาวชน
“ผมงงว่า สรุปแล้ว ฝ่ายไหนต้องการจะเข้ามาควบคุมกัญชาดูแลสังคมกันแน่ เพราะฝ่ายที่อ้างเป็นห่วงเด็กนี่เองที่ขวางกฎหมาย ส่วนอีกฝ่ายที่ถูกตราหน้าว่าไม่สนใจสังคม กลับเป็นฝ่ายที่ออกกฎวางกรอบขึ้นมาสารพัด อย่างไรก็ตาม การจะคว่ำกฎหมาย ผมคิดว่า ไม่มีประโยชน์กับใครทั้งนั้น นอกเหนือจากว่าจะจะทำให้ไม่มีกฎหมายเฉพาะมาดูแลเรื่องการใช้ ซึ่งถ้าท่านเห็นแก่ส่วนรวม และมองว่าต้องการดูแลเรื่องกัญชา ท่านต้องให้ พ.ร.บ.เข้าสภา และถ้าอยากจะแก้ก็ต้องแก้ในนั้น ผม ไปตรวจสอบว่าที่เขาค้านมีประเด็นอะไรบ้าง พบว่าสิ่งที่เค้าน มีอยู่แล้ว ในกฎหมาย บางอย่างไม่เห็นด้วยกับ กมธ. ก็มีผู้สงวนคำแปรวญัตติ อยู่ในทุกประเด็น ทุกมาตรา มันพร้อมจะถูกโหวตอยู่แล้ว แล้วจะมาคว่ำทำไม”