ระดมทีมสุขภาพจิต ร่วมดูแลผู้ประชุม“เอเปก” ห่วงภาวะ Jet Lag อาจเกิดปัญหานอนไม่หลับ ทำเครียด วิตกกังวล แนะคนอายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว หากมีอาการหายใจไม่ทัน หายใจไม่อิ่ม สัญญาณบ่งบอกวิตกกังวล หากมีอาการเข้ามาขอรับคำปรึกษา เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย กลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ พร้อมวางระบบส่งต่อรักษา
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิต รองรับการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ว่า การดูแลสุขภาพของผู้เข้าร่วมประชุมเอเปกนั้น มีการบูรณาการหลายฝ่ายเพื่อรองรับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม อย่างทีมแพทย์ที่ติดตาม นอกจากมีเรื่องสุขภาพกายแล้ว ยังมีทีมดูแลสุขภาพจิตเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย เพื่อดูแลผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการงานประชุมเอเปกทั้งหมด โดยกระบวนการดูแลมีตั้งแต่ให้ปรึกษาเล็กน้อย การเอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศด้านสุขภาพจิตที่ดี หรือถ้าต้องการการดูแลช่วยเหลือในด้านสุขภาพจิต ก็มีหน่วยส่งต่อไปสู่การรักษาในระดับสูงขึ้น โดยโรงพยาบาลและหน่วยงานของกรมสุขภาพจิตทุกแห่งต่างมีพร้อม ดังนั้น หากคิดว่า เริ่มมีอาการทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจก็สามารถเข้ามาขอรับการปรึกษาและการดูแลจากทีมแพทย์ได้ทันที
“สิ่งที่คิดว่าน่าจะเจอได้บ่อย คือ คนที่เคยรับประทานยาเกี่ยวกับความเครียด หรือด้านสุขภาพจิต สามารถเข้ามาปรึกษาได้เลย เช่น ลืมเอายามา หรือพอปรับเปลี่ยนเวลา การใช้ชีวิตที่ต่างจากเดิม อาจต้องมีการปรับยาเล็กๆ น้อยๆ ก็มาปรึกษาได้ หรือคนที่ไม่เคยมีปัญหาใดมาก่อน แต่นอนไม่หลับ วิตกกังวล ก็เข้ามารับการพูดคุยปรึกษาเบื้องต้น จะมีการประเมินว่าต้องใช้ยาช่วยเหลือหรือไม่ หรือหากพบผู้ที่ควบคุมการแสดงออกไม่เหมาะสม ก็มีทีม MCATT กระจายอยู่ในการช่วยเหลือดูแลคนเหล่านั้นให้ผ่อนคลายหรือส่งต่อสู่การรักษาที่เหมาะสม” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวว่า สิ่งที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจ คือ หลายคนไม่ทราบว่าสิ่งที่เกิดกับตัวเองมาจากความกังวลทางจิตใจ เช่น อาการหายใจไม่ทัน หายใจไม่อิ่ม เนื่องมาจากความวิตกกังวล บางคนอาจรู้สึกหายใจหอบๆ อ่อนเพลียวิงเวียน แขนขาอ่อนแรง มีอาการชาแขนขาได้ด้วย ส่วนหนึ่งถ้าเป็นคนมีอายุน้อยๆ ไม่มีโรคประจำตัวอื่นใด ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ กลุ่มนี้สามารถเป็นจากเรื่องความเครียดได้ ก็อาจต้องเข้ามารับกำารดูแล เพื่อให้คืนตัวอย่างรวดเร็วและทำหน้าที่ในการประชุมต่อได้อย่างรวดเร็ว
“สิ่งที่เจอเยอะที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนเวลา หรือ Jet Lag ที่ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับจะเจอเยอะสุด เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องหรือคนติดตามอาจรู้สึกว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ พลาดไม่ได้ พอปรับเปลี่ยนเวลาอาจนอนไม่หลับ แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต้องใช้สมาธิมาก มีการทุ่มเทพลังเต็มที่ พอนอนไม่หลับก็อาจกังวล และเป็นผลกระทบให้นอนไม่หลับอีก หรืออาจมีความเครียดเกิดขึ้น แบบนี้สามารถปรึกษาได้เลย เรามีตัวช่วยและวิธีที่ให้เกิดความผ่อนคลายและหลับได้ดีขึ้นได้” พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพร กล่าวว่า สำหรับการจัดทีมด้านสุขภาพจิตนั้น นอกจากให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตกับทีมด้านการแพทย์แล้ว เรายังมีทีมสุขภาพจิตโดยเฉพาะจากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นเจ้าภาพเชิงพื้นที่หลัก ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. ร่วมกับทีมกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิตจากส่วนกลาง เป็น 3 หน่วยสำคัญแกนหลักดูแลโดยตรง แต่ยังมีทีมหนุนเสริมจาก รพ.ศรีธัญญา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และ รพ.ภูมิภาครายรอบที่พร้อมส่งต่อหรือส่งคนเข้ามาช่วยเหลือกรณีมีบริการที่เกินขีดกำลังหลัก ตอนนี้ทุกหน่วยสแตนบายพร้อม พวกเราตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งให้การประชุมเอเปคผ่านไปอย่างประสบความสำเร็จ
“ส่วนช่วงการประชุมเอเปกที่รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดราชการนั้น แม้สถานพยาบาลใน กทม.มีการลดบริการลง แต่ยังให้บริการฉุกเฉินอยู่ และเรามีทีม MCATT เคลื่อนที่ ซึ่งประชาชนในย่านใกล้เคียงสามารถเข้าไปติดต่อขอคำปรึกษาได้ และประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเร่งด่วน อาจปรึกษาสายด่วน 1323 หรือไปหน่วยบริการจุดฉุกเฉินก็ยังมีการให้บริการเช่นเดิม” พญ.อัมพร กล่าว