เหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นในชีวิต มักมาอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า น้ำท่วม หรือแม้แต่ภาวะโรคระบาดอย่างโควิด-19 ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนทั้งสิ้นและยังทำให้แรงงานหรือผู้ประกันตนไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ หรือบางครั้งอาจทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน หากเกิดกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเหล่านี้ โดยจ่ายเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อคุ้มครองดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเกิดเหตุสุดวิสัยและยังไม่สิ้นสภาพการจ้างงาน ต้องไม่ลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง และต้องเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่างว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย โดยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากอัคคีภัย วาตภัย หรือธรณีพิบัติภัย รวมถึงภัยอื่น ๆ อันเกิดจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากโรคระบาดโรคติดต่อ ดังเช่น โรคติดเชื้อโควิด-19 ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 90 วัน สำหรับการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม) ผู้ประกันตนสามารถยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2 – 01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศหรือยื่นทางไปรษณีย์ แต่ถ้าเป็นกรณีโรคระบาดโรคติดต่อโควิด-19 ผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนผ่าน e-Service ที่ www.sso.go.th ได้ทันทีพร้อมหนังสือรับรองจากนายจ้าง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมสามารถจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนทุกธนาคารได้แล้ว หรือผู้ประกันตนจะเลือกขอรับประโยชน์ทดแทนด้วยการโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน โดยใช้สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
หากเกิดกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยแล้ว ต่อมาผู้ประกันตนลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างโดยนายจ้างแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6 – 09) สำนักงานประกันสังคมจะงดจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยตั้งแต่วันที่นายจ้างแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน (กรณีลาออกหรือเลิกจ้าง) โดยไม่นับรวมระยะเวลากับที่ได้รับเงินว่างงานกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง Line : @ssothai และทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506