นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่มิใช่เนื่องจากการทำงานนั้น จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
โดยหากเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยปกติทั่วไป ผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีสิทธิ และไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่หากผู้ประกันตนต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ในช่วง 30 วัน จะได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้จากนายจ้างก่อนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและหลังจากวันที่ 31 เป็นต้นไปจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับตามใบรับรองแพทย์ที่ระบุวันให้หยุดพักรักษาตัวครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปี
เว้นแต่ผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วันต่อปี นอกจากนี้หากผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เมื่อเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตายอีกด้วย
ผู้ประกันตนสามารถยื่นแบบคำขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ /จังหวัด / สาขาทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Line : @ssothai และทางเว็บไซต์ www.sso.go.th
#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506