ปลัด อว. โชว์ปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยในเวทีประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของอาเซียนที่สิงคโปร์ ชี้ไทยขับเคลื่อนได้เร็ว หนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นตัวอย่างของอาเซียน พร้อมขยายความร่วมมือสู่นานาชาติ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ว่ารัฐบาลได้ปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งใหญ่ โดยการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับการวิจัยและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปได้อย่างรวดเร็ว ริเริ่มโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ จัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา การใช้แซนด์บ๊อก เริ่มการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย สร้างธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยในขณะนี้ไทยได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการอุดมศึกษาของภูมิภาคแล้ว พร้อมขยายความร่วมมือกับนานาชาติ
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำมหาวิทยาลัยในอาเซียน (University Leaders Summit) ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของเครือข่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือ Temasek Foundation-National University of Singapore Programme for Leadership in University Management ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นั้น เป็นเวทีสำคัญที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยหลักของอาเซียน 25 แห่ง ได้มาหารือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารและการกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในภูมิภาค โดยครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดแบบเต็มรูปแบบในโอกาสครบรอบ 10 ปีของโครงการ และเป็นการประชุมในสถานที่เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ นายชาน ชุน ซิง เป็นประธานเปิดการประชุมที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และท่านประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ฯพณฯ ฮาลิมา ยาคอบ เป็นประธานในงานเลี้ยงรับรองในพิธีปิดการประชุมที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (Asian Civilisation Museum)
"ในการนี้ ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Chairman of ASEAN University Network Board of Trustees) ได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับ การปฏิรูประบบการอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยใช้ฐานความรู้ตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยรัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวง อว. ขึ้นเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับการวิจัยและการพัฒนา ซึ่ง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทโดยตรงในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์การบริหารส่วนพื้นที่ โดยได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย โครงการแซนด์บ๊อก การลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย การจัดตั้งธนาคารหน่วยกิจแห่งชาติ เป็นต้น"
ปลัด อว. กล่าวต่อว่า "โครงการ U2T ได้สร้างผลกระทบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยฐานความรู้ ทำให้มหาวิทยาลัยได้ทำงานใกล้ชิดในทุกพื้นที่ ส่วนโครงการ Higher Education Sandbox ซึ่งเป็นแนวทางจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ ให้อิสระสถาบันอุดมศึกษาปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบการศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อให้ทันต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วและความต้องการจากตลาดแรงงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันมีหลักสูตรกว่า 100 หลักสูตรอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนนำไปลองใช้งาน มีการยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกัน ตอบโจทย์การเรียนของนักศึกษา สร้างกลไกการลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย และโครงการคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System) ให้คนทุกช่วงวัยสามารถเรียนหลักสูตรต่างๆ หรือนำประสบการณ์ทำงาน มาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งนำไปสู่การใช้งานจริงสนองนโยบายของประเทศโดยตรงในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สามารถออกไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีภารกิจเพิ่มเติมต่างจากเดิมที่ทำหน้าที่สอนนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันต้องสอนและบ่มเพาะให้นักศึกษามีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่และสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษาด้วย โดยในงานนี้มีอธิการบดีและผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยไทย 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศต่างๆ ด้วย"
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ยังได้เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายให้หัวข้อ "ประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยอาเซียนในการส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยี" โดยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอภิปราย