xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถกเกาหลีใต้ ย้ำสัมพันธ์ครบ 64 ปี สู่ความมั่นคงยั่งยืนทั้งแบบทวิภาคี-พหุภาคี ฟื้นฟู ศก.สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ผลักดันความร่วมมือด้าน สธ. ฟื้นฟู ศก.สังคมยั่งยืน หนุนความเชื่อมโยงระหว่าง ปชช.ที่ใกล้ชิด ถก ปธน.ย้ำ ความร่วมมือพร้อมก้าวย่างสู่การครบรอบ 64 ปีสถาปนาสัมพันธ์การทูตขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง ยั่งยืน ทั้งแบบทวิภาคี-พหุภาคี

วันนี้ (11 พ.ย.) เวลา 15.20 น. ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 23 พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายยุน ซ็อก-ยอล (Mr. Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และเลขาธิการอาเซียน เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ สู่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีครั้งแรก ไทยพร้อมสนับสนุนบทบาทของเกาหลีใต้ในการดำเนินนโยบายทางการทูตเชิงรุกที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค พร้อมยินดีที่เกาหลีใต้คงให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่อาเซียนเป็นศูนย์กลาง มียุทธศาสตร์ที่มุ่งขยายความร่วมมือในทุกมิติกับอาเซียน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวทางการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายร่วมกันในอนาคต 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก สาธารณสุขที่มั่นคงและครอบคลุม การพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมีความสำคัญลำดับต้น เชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของเกาหลีใต้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของภูมิภาคในระยะยาว โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ โดยไทยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการฝึกอบรมระดับโลกสำหรับการผลิตทางชีวภาพของเกาหลีใต้

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนยัง รวมถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกประเทศสมาชิกดำเนินการได้สำเร็จ โดยไทยหวังว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาคร่วมกันได้ภายในปี 2573 ตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้

ประการที่สอง การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ที่ประชุมฯ ควรมุ่งสานต่อการเสริมสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูงจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของภูมิภาค อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และเมืองอัจฉริยะ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ขยายการค้าและการลงทุนในอาเซียนเพิ่ม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสรรค์สร้างนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนา MSMEs และ start-ups โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์และทักษะที่จำเป็นสำหรับยุค 4IR และยุคดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายพลิกโฉมประเทศ โดยการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิด โดยไทยมีโครงการ “ดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์” ของ EEC เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งไทยพร้อมเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอย่างรอบด้านสำหรับนักลงทุนอาเซียนและเกาหลีใต้

ประการที่สาม ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้น นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการไปมาหาสู่ และการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในทุกระดับ ชื่นชมความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการส่งเสริม และเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไปทั่วโลก โดยเฉพาะการใช้ “soft power” ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสาธารณรัฐเกาหลีในทุกมิติ ซึ่งไทยสนับสนุนให้มีการแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในสาขาที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางวัฒนธรรมภายในอาเซียน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกัน และโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษา ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเยาวชน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี โดยหวังจะเห็นการเจรจามีความคืบหน้าจนนำไปสู่คาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ไทยมุ่งมั่น และพร้อมที่จะรักษาบทบาทที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ของทุกประเทศในภูมิภาค

ต่อมาเวลา 17.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา (เวลาเท่ากับประเทศไทย) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ นายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกภายหลังจากที่ประธานาธิบดี ยุน เข้ารับตำแหน่ง และยืนยันความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก ยินดีกับการครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันในปีนี้ รวมถึงการย่างเข้าสู่การครบรอบ 64 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต รัฐบาลไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้ขับเคลื่อนความสัมพันธ์สู่ความมั่นคง และยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญประธานาธิบดีเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสแรกที่ฝ่ายสะดวก ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่ย่านอิแทวอน

ประธานาธิบดี ยุน กล่าวยินดีที่ได้พบหารือกันในวันนี้ ถือเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีและความหมายในการครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และการครบรอบ 64 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ประธานาธิบดีรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเอเปกด้วยตนเอง หวังว่า ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทยจะประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ และสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี โอกาสนี้ยังได้กล่าวขอบคุณพระกรุณาธิคุณสำหรับข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย สารแสดงความเสียใจของนายกรัฐมนตรี รวมถึงจากภาคส่วนต่างๆ ของไทย กรณีย่านอิแทวอน เกาหลีใต้จะให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับไทยและอาเซียน พร้อมเดินหน้าและรักษาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ระหว่างกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับประชาชนกับประชาชนที่เป็นจุดเชื่อมสำคัญจากการชื่นชอบในวัฒนธรรมของกันและกัน

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน ดังนี้

ผู้นำทั้งสองหวังที่จะได้แลกเปลี่ยนการเยือนในทุกๆ ระดับระหว่างกัน ไทยและเกาหลีใต้พร้อมส่งเสริมและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยทั้งสองยินดีที่ทั้งสองประเทศต่างผ่อนคลายมาตรการเดินทางจากสถานการณ์โควิด-19 หวังให้ไทยและเกาหลีใต้จะรื้อฟื้นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงให้กลับมามีพลวัตอีกครั้ง นอกจากนี้ ไทยและเกาหลีใต้ยินดีที่ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนมีความใกล้ชิด โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ช่วยให้ดูแลคนไทยที่ไปทำงานและเดินทางไปท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ ด้านรัฐบาลไทยพร้อมดูแลคนเกาหลีใต้ที่อาศัยในไทย และนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ไทยเช่นกัน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยไทยเร่งผลักดันกลยุทธ์ “3 แกนสร้างอนาคต” ในการพัฒนาประเทศ เน้นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และภาคการธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจ ศักยภาพและจุดแข็งของเกาหลีใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนมากขึ้นในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ ด้านภาคเอกชนเกาหลีใต้หลายบริษัทก็มีความสนใจและหวังที่จะลงทุนใน EEC จึงได้ขอให้ไทยช่วยดูแลภาคเอกชนด้วย

ประเด็นความร่วมมือในอนุภูมิภาค และภูมิภาค ไทยยินดีที่ประธานาธิบดีให้ความสำคัญกับอาเซียน รวมทั้งการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของเซียน และสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง โดยเกาหลีใต้ยืนยันพร้อมสนับสนุนความเป็นแกนกลางของเซียน และพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเกาหลีใต้ที่ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยมาตลอดทั้งปี หวังว่า จะได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีใต้ต่อไป และไทยพร้อมร่วมมือกับเกาหลีใต้ในกรอบเอเปก และยินดีอย่างยิ่งที่ไทยกับเกาหลีใต้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันในระยะ 5 ปี (ปี 2565-2570) เพื่อสอดประสานยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น