xs
xsm
sm
md
lg

เร่งปรับเกลี่ยบุคลากร รพ.นพรัตนฯ จ้างพยาบาลนอกเพิ่ม หลังเจอปัญหา "ผู้ป่วยล้น" หลังยกเลิกบัตรทองเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.แจงผู้ป่วยล้น รพ.หลัง สปสช.ยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ กทม. "รพ.นพรัตนฯ" หนักสุด เหตุไม่มี รพ.รัฐอื่นช่วย พร้อมส่งบุคลากรช่วยเหลือ กรมการแพทย์เตรียมปรับเกลี่ยบุคลากร จ้างพยาบาลนอกเวลาเพิ่มใน ER บางเคสไม่ต้องมา รพ.ให้รับยาไปกิน กระจายผู้ป่วยนอกลงชุมชน

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี รพ.นพรัตนราชธานี รับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจนล้น หลัง สปสช.ยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน ว่า ได้รับรายงานแล้ว กรณีดังกล่าวส่วนใหญ่พบในพื้นที่ กทม. และได้หารือกับอธิบดีกรมการแพทย์ถึงเรื่องนี้แล้วว่า หากบุคลากรในรพ.นพรัตนราชธานีไม่เพียงพอ จะมีการปรับเกลี่ยบุคคลในกรมมาช่วยสนับสนุน ซึ่งสำนักงานปลัด สธ. หากตรงไหนช่วยได้ก็พร้อมช่วยเหลือ เบื้องต้นได้สอบถามอธิบดีกรมการแพทย์แล้วว่า หากต้องการให้สำนักงานปลัด สธ. สนับสนุนบุคลากรก็ยินดี เท่าที่ทราบสามารถจัดการตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ตึงตัวพอสมควร เพราะว่าคนมารับบริการค่อนข้างมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้รับผลกระทบตั้งคำถามว่า ก่อนยกเลิกสัญญา ควรหา รพ.รองรับให้เพียงพอก่อน จำเป็นต้องหารือ สปสช.เรื่องนี้อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า สปสช.มีการเตรียมการอยู่ แต่ปัญหาตอนนี้ คือ บุคลากรไม่เพียงพอรองรับผู้มาใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้จึงมีการบริหารจัดการอยู่ แต่อย่างที่ทราบพื้นที่กทม. มีรพ.ในสังกัด สธ.ไม่มาก จึงช่วยแก้ไขได้ไม่เต็มที่ และส่วนใหญ่เป็น รพ.สังกัดกรมการแพทย์ ที่เป็นรพ.เฉพาะทางมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีรองปลัด สธ.คนที่ 5 ได้มอบหมายภารกิจให้ดูแลงานในส่วนพื้นที่ กทม.แล้ว
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. ต่างระดมมาช่วยกันหมด แต่ในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก จะพบมากที่สุดคือ รพ.นพรัตนราชธานี เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพตะวันออกแถวนั้น รพ.รับส่งต่อ หรือ รพ.ขนาดใหญ่ของรัฐไม่มีเลย จะมีที่ รพ.นพรัตนฯ เพียงแห่งเดียว เมื่อ สปสช.ยกเลิกสัญญาบัตรทอง รพ.เอกชนบริเวณนั้น ที่มีประชาชนสิทธิบัตรทอง 1.5 แสนคน ทำให้ต้องเทมาที่ รพ.นพรัตนฯ ขณะนี้ รพ.นพรัตนฯ พยายามบริหารจัดการอย่างดีที่สุด โดยเราประสานกับ สปสช. และ รพ.รอบๆ ทั้งรัฐและเอกชนช่วยรับผู้ป่วยใน และกระจายผู้ป่วยนอกไปสู่ชุมชน ซึ่ง กทม.ได้เข้ามาช่วยดูแล จะมีศูนย์อนามัยมาช่วย อีกทั้ง รพ.นพรัตนฯ ได้จ้างพยาบาลนอกเวลามาช่วย ซึ่งเป็นการจ้างเอกชนที่ไม่อยู่ในระบบราชการ เพื่อมาประจำในส่วนฉุกเฉิน เนื่องจากคนไข้มาเยอะ

เมื่อถามว่า รพ.สังกัดกรมการแพทย์แห่งอื่นรับผลกระทบเช่นกันหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ก็คล้ายกัน ทั้งรพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน แต่ รพ.นพรัตนฯ เยอะสุด เพราะพื้นที่กรุงเทพตะวันออกจะไม่มี รพ.รัฐที่อื่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวเลย ขณะนี้ได้พูดคุยกับทาง ผอ.รพ.นพรัตนฯ แล้ว คิดว่าจะดีขึ้น เพราะมีการวางระบบการรักษาพยาบาล บางเคสไม่ต้องมา รพ. โดยรับยาไปกิน คุมอาการของโรค อย่างเบาหวาน ความดันได้ ก็ให้สามารถไปรับที่ศูนย์อนามัยของ กทม.แทน


กำลังโหลดความคิดเห็น