6 เดือนหลังปลด "กัญชา" พบสอนเด็กใช้แบบถูกต้อง ห่วงชี้นำเหมือนธุรกิจน้ำเมา เกษตรกรหลงปลูกแบบไร้ความรู้ ผลผลิตไม่ได้เกรด หวั่นทะลักเข้าตลาดมืดถึงมือเยาวชนง่าย นำสู่ใช้สารเสพติดอื่น ห่วงร่างกฎหมายส่อออกไม่ทัน
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จัดเสวนา “เช็กสถานการณ์ 6 เดือนผ่านไปในวันที่มีกัญชารอบบ้าน” เมื่อเร็วๆ นี้ โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศศก. กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ผ่านมาเกือบ 6 เดือน บางครอบครัวป้องกันได้ดี ไม่ให้มีการใช้กัญชาสันทนาการในบ้าน แต่ภายนอกบ้านยังพบได้ทั่วไป ทั้งร้านสะดวกซื้อ โฆษณาทางทีวี ตอกย้ำความคิดว่ากัญชาปลอดภัยใช้ได้ และยังเห็นผลกระทบจากการได้รับกัญชา ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงต้องติดตามผลกระทบต่อเนื่อง แสดงข้อเท็จจริงเปิดเผยตรงไปตรงมา เพื่อวางมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันว่าไม่ค้านการใช้ทางการแพทย์ แต่การใช้ทั่วไปแบบสันทนาการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอยู่ในระบบที่ดี เพราะที่ผ่านมามีรายงานพบอายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชามากขึ้น 2 เท่า
นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องออกประกาศหลายฉบับ ทั้งใช้ปรุงอาหาร ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มเปราะบาง แต่ที่ห่วงคือ มีหลักสูตรการสอนในโรงเรียนให้เห็นคุณประโยชน์ คุณค่า การใช้อย่างถูกวิธี เหมือนดาบ 2 คม ทำให้ชินการใช้กัญชาปรุงอาหาร เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการพยายามให้โรงเรียนมีหลักสูตรสอนการดื่มที่ถูกต้อง แต่เชิงลึกเป็นการชี้นำ
"กัญชาที่ถูกผลักดันกำหนดทิศทางโดยการเมือง อย่างพรรคภูมิใจไทยที่ดันจนถูกกฎหมาย มีแนวโน้มใช้กัญชาสร้างการท่องเที่ยวให้นันทนาการมากขึ้น แต่กระแสสังคมเริ่มกังวล เพราะเห็นผลกระทบ แม้ผลกระทบกัญชาทางร่างกายไม่มาก แต่มีข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดทางจิตจากกัญชาเพิ่มขึ้น ปี 2561 อยู่ที่ 3% ปี 2562 อยู่ที่ 14% ปี 2563 อยู่ที่ 8% ปี 2564 อยู่ที่ 14% ส่วนปี 2565 เกือบ 17% เป็นเทรนด์ที่ต้องเฝ้าระวัง" นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มีกล่าว
นางพัชรินทร์ ขันคำ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า หลังปลดล็อกพบว่า มีการขายเมล็ดกัญชากัญชงทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากการติดตามปลูกกัญชงเน้นเพื่อเศรษฐกิจ ยังขาดองค์ความรู้ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ที่สำเร็จพบว่า ปลูกภายใต้ระบบควบคุมเพื่อการศึกษาวิจัย ส่วนปลูกกัญชาพบว่า มากกว่า 90-95% ไม่ประสบความสำเร็จ มีปัญหาโรคพืชและแมลง เพราะขาดองค์ความรู้การปลูกที่มีคุณภาพ ทั้งที่ใช้เงินทุนสูง ผลผลิตไม่ได้เกรดนำไปใช้ทางการแพทย์ ขายไม่ได้ จึงกังวลว่าผลผลิตจะหลุดเข้าไปตลาดมืด ที่น่าห่วงคือการใช้ในเยาวชนที่อาจจะนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น มองว่าควรควบคุมการปลูก มีกลไกดูแลระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง