xs
xsm
sm
md
lg

รพ.นวเวช แนะดูแลสุขภาพหัวใจก่อนป่วย ย้ำเครื่องมือ ทีมแพทย์ ปัจจัยสำคัญช่วยฟื้นฟูสุขภาวะหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกวันที่ 29 กันยายน เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของหัวใจ จากสถิติปี 2564 พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 18,000-20,000 คน หรือชั่วโมงละ 2 คน แม้ว่าจะยังไม่มีอาการหรือสัญญาณใดๆ ที่จะบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็ตาม แต่แพทย์จะแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพหัวใจ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินด้านหัวใจในอนาคต
สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
พญ.ณหทัย ฉัตรสิงห์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้พบผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มพบในผู้ป่วยอายุน้อยลงจากเดิม โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ คนไข้บางรายอาจจะมีอาการเด่นชัด เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น อาการวูบ เป็นลม เจ็บหน้าอกแบบเป็นๆ หายๆ หรือแน่นหน้าอก ขณะที่คนไข้บางรายอาจจะไม่แสดงอาการใดๆ จึงควรหมั่นสังเกตตนเองเป็นประจำ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจ เพราะหากพบรอยโรคจากการตรวจสุขภาพหัวใจ ทีมแพทย์จะวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะฉุกเฉินโรคหัวใจได้

โรคหัวใจที่พบ
พญ. วริษฐา เล่าสกุล อายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า โรคหัวใจที่พบบ่อยในปัจจุบันคือเส้นเลือดหัวใจตีบ พบทั้งผู้ที่มีอาการแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน ในคนไข้ที่มีอาการเรื้อรัง ทีมแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาได้ทันทีหากตรวจพบอาการผิดปกติแต่สำหรับคนไข้ที่มีอาการแบบเฉียบพลัน จะมาโรงพยาบาลด้วยเคสฉุกเฉิน ไม่ว่าจะด้วยอาการหมดสติกระทันหันหรือหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดนี้จะต้องรีบดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยการสวนเส้นเลือดหัวใจหรือการผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงของคนไข้แต่ละคน

เครื่องมือแพทย์เสริมการวินิจฉัย
พญ.วริษฐา เล่าสกุล กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลนวเวช นอกจากเครื่องตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องเดินสายพาน ฯลฯ แล้ว ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทั้งเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiovascular MRI : CMR) ซึ่งเป็นเครื่อง MRI 3 Tesla ที่สามารถเห็นรายละเอียดของภาพได้ชัดเจน สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของโครงสร้างการทำงานของหัวใจ สามารถตรวจเนื้อเยื่อที่มีความซับซ้อน หรืออวัยวะที่มีขนาดเล็กของหัวใจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan (Computer Tomography Scan) เครื่องตรวจหลอดเลือดหัวใจว่ามีความตีบ-ตัน มากน้อยเพียงใด สามารถเห็นระบบเส้นเลือดของหัวใจทั้งหมด เครื่องที่ทางโรงพยาบาลใช้งาน เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan Spectral CT 256 slices ที่มีข้อดีคือ คนไข้ได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่า ใช้เวลาในการตรวจน้อยกว่าเครื่องรุ่นเดิม และภาพคมชัด ทำให้ทีมแพทย์สามารถตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจได้แม่นยำขึ้น เพื่อวางแผนการรักษาขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสวนเส้นเลือดหัวใจ
นพ.ศรัณยู สุทธิพงศ์เกียรติ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ อนุสาขาหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ในอดีตคนไข้ที่มีอาการฉุกเฉินด้วยเส้นเลือดหัวใจตีบ มักพบในกลุ่มคนที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงมามากขึ้น เพราะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป
ในกรณีที่มีคนไข้ถูกส่งตัวมาในภาวะฉุกเฉิน และทีมแพทย์มีมติรักษาด้วยวิธีการสวนเส้นเลือดหัวใจ (บอลลูน) สามารถเปิดเส้นเลือดเพื่อเริ่มการรักษาให้ได้ภายใน 90 นาที ซึ่งศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช มีเครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดชนิดสองระนาบ (BI-plane) ที่มีประสิทธิภาพช่วยให้แพทย์ตรวจดูเส้นหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้น ด้วยภาพที่คมชัด ทำให้สามารถช่วยย่นระยะเวลาการทำหัตถการให้เสร็จลงได้ภายในเวลา 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังทำบอลลูนคนไข้สามารถกล้บบ้านได้ภายใน 1-2 วัน และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 2-4 สัปดาห์

โรงพยาบาลนวเวช มีทีมแพทย์โรคหัวใจที่ร่วมกันรักษาคนไข้แบบองค์รวม เพื่อร่วมกันตัดสินใจและให้การรักษาคนไข้อย่างเร็วและดีที่สุด ซึ่งทีมแพทย์จะร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการรักษาก่อนลงมือรักษา แต่ทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้ภายใน 24 ชั่วโมงนับจากรับตัวคนไข้เข้ามา ซึ่งหากลงมือรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยชีวิตคนไข้ได้มากขึ้น”

การทำบายพาส
นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ศัลยแพทย์หัวใจ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีคนไข้จำนวนมากที่มีความกังวลและมักจะปฏิเสธการรักษาหากต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แต่ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัด คือสามารถทำเส้นเลือดได้ทุกเส้นในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว และในระยะยาวยังให้ผลดีกับผู้ป่วยเพราะโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมีน้อยกว่าการรักษาแบบอื่น จากสถิติในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีการรักษาคนไข้อาการเส้นเลือดหัวใจตีบด้วยวิธีการผ่าตัดประมาณ 5,800 ราย ที่โรงพยาบาลนวเวช มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประกอบกับทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจที่วางแผนการรักษาร่วมกัน ช่วยเสริมให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า การเสียชีวิตจากการผ่าตัดโรคหัวใจมีน้อยกว่า 5% คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 5-7 วัน และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 1-3 เดือน
โอกาสเป็นซ้ำมีได้หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้ว่าการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะให้ผลดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น แต่คนไข้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ในเวลาไม่นานหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่ควบคุมอาหาร ไม่ควบคุมน้ำหนัก หรือการกลับไปสูบบุหรี่ ซึ่งคนไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำ ทีมแพทย์จะต้องพิจารณาแนวทางการรักษาใหม่ เพราะการผ่าตัดซ้ำจะมีความเสี่ยงสูงเป็น 2 เท่า

ความพร้อมของทีมแพทย์และเครื่องมือ
ศูนย์โรคหัวใจ และทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช มีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านหัวใจประจำตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ที่จะสามารถดูแลหัวใจของผู้ป่วยทุกคนให้ปลอดภัยได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตอบโจทย์ทั้งการรักษาด้วยการสอดสายสวนเส้นเลือดหัวใจ (บอลลูน) หรือการทำบายพาส รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายแบบองค์รวมภายหลังการทำหัตถการเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โรงพยาบาลนวเวช มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดีมีคุณภาพ และเข้าถึงง่าย Accessible Quality Healthcare พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โทร. 02 483 9999 I www.navavej.com


















กำลังโหลดความคิดเห็น