xs
xsm
sm
md
lg

เตือนลง “น้ำท่วม” ทำคอนเทนต์ เสี่ยงอันตรายหวั่นเด็กเลียนแบบ วอนอย่าทิ้ง “สิ่งปฏิกูล-ขยะ” ส่อโรคระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ย้ำ ช่วงน้ำท่วมรักษาสุขอนามัย อย่าทิ้งสิ่งปฏิกูล-ขยะลงน้ำ เสี่ยงแพร่เชื้อโรคทางเดินอาหาร-ทางเดินหายใจ หากเข้าส้วมไม่ได้ ให้ทำส้วมเคลื่อนที่ มัดปากถุงให้แน่น รอเทศบาลท้องถิ่นมาเก็บ เตือนชาวโซเชียลลงน้ำท่วมถ่ายคอนเทนต์ หวั่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เด็กอาจทำตามจนอาจเกิดอุบัติเหตุดับ

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงสุขอนามัยในพื้นที่น้ำท่วมขัง ว่า ช่วงน้ำท่วมในทุกปี กรมอนามัยจะมีมาตรการข้อปฏิบัติในเชิงวิชาการออกมาแนะนำประชาชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น การคัดแยกขยะ กำจัดสิ่งปฏิกูล กรณีน้ำเสียก็จะมีมาตรฐานการเติม EM Ball ที่เป็นจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียว่าปริมาณน้ำขนาดไหนจะต้องใส่กี่ลูก เป็นต้น ขณะที่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของประชาชนในการขับถ่ายที่ไม่สามารถเข้าห้องส้วมได้ ให้หาภาชนะรองรับ เช่น นำเก้าอี้มาเจาะรูแล้วนำถุงขยะมารองรับสิ่งปฏิกูลคล้ายเป็นส้วมเคลื่อนที่แล้วมัดถุงให้มิดชิด เช่นเดียวกับเศษอาหารที่กินแล้วก็ต้องมัดถุงขยะให้มิดชิด

“สิ่งปฏิกูลและขยะเหล่านี้อย่าโยนทิ้งลงน้ำ เพราะจะเกิดโรคระบาดจากน้ำท่วมได้ โดยให้เก็บถุงขยะเอาไว้รอเทศบาลมารับไปกำจัด ซึ่งอาจจะไม่ได้มาเก็บทุกวันตามปกติเนื่องจากน้ำท่วม อาจจะล่าช้ากว่าปกติไปบ้าง ต้องขอความร่วมมือประชาชนในการรับผิดชอบ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเดินอาหาร ซึ่งบางอย่างติดต่อมาที่ระบบทางเดินหายใจได้ หรือโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โรคพยาธิ โรคท้องร่วง และย้ำว่าอย่ากินอาหารดิบๆ ซึ่งอาจติดเชื้อนำมาสู่โรคต่างๆ ได้” นพ.เอกชัยกล่าว


เมื่อถามถึงกรณีประชาชนลงเล่นน้ำท่วมเพื่อทำคอนเทนต์ลงในโซเชียล โดยเฉพาะเด็กๆ ว่า น้ำมาถึงพื้นที่แล้ว นพ.เอกชัย กล่าวว่า ต้องเน้นย้ำผู้ปกครอง ประชาชนให้ดูแลลูกหลานว่าการทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจเกิดอันตรายจากสิ่งที่มาจากน้ำที่เรามองไม่เห็นได้ เช่น เชื้อโรค สัตว์เลื้อยคลาน อุบัติเหตุไฟช็อต การจมน้ำ หรือโรคง่ายๆ ที่เกิดขึ้นแน่คือ โรคผิวหนัง โรคเชื้อรา

“กรณีเด็กที่ไม่รู้เรื่องผู้ปกครองต้องดูแล ให้คำแนะนำ ส่วนคนที่โต รู้เรื่องแล้ว หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ควรไปทำแบบนี้ ขอให้มีความรับผิดชอบ เพราะจะเกิดกระแสทำให้เด็ก เยาวชนคิดว่าเป็นสิ่งดีงาม เมื่อทำตามอาจเกิดอันตรายได้ แนะนำให้ทุกคนร่วมกันดูแลลูกหลานของท่านในช่วงน้ำท่วม” นพ.เอกชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น