xs
xsm
sm
md
lg

เร่งหาตัวผู้ลักลอบทิ้งของเสียอันตรายย่านทวีวัฒนา ฝากประชาชนเป็นหูเป็นตาช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เมื่อเวลา 13.30 น. พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีมีผู้ลักลอบทิ้งตะกอนและน้ำมันที่ใช้แล้วในพื้นที่รกร้างของเอกชน บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 ที่ 18 พื้นที่เขตทวีวัฒนา ซึ่งส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 65 เวลา 12.00 น. ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตทวีวัฒนา ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีบุคคลลักลอบทิ้งสารเคมีในที่รกร้าง ถนนพุทธมณฑล สาย 3 ซอย 18 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ จึงเข้าตรวจสอบ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 65 เวลา 12.30 น. พบกลุ่มบุคคล จำนวน 4 คน ชาย 2 คน หญิง 1 คน เด็กชาย 1 คน และรถกระบะ มีถังขนาด 200 ลิตร อยู่บนรถ จำนวน 7 ใบ ในถังไม่มีสารใดๆ บรรจุ ขณะตรวจสอบ พบว่า ชาย 2 คน ยืนตกปลา สอบถามแจ้งว่ามาหาแม่ที่อาศัยอยู่ในซอยแล้วแวะมาตกปลา ต่อมา เวลา 23.00 น. มีการนำเสนอข่าวรายการข่าวสามมิติ กรณีมีผู้ลักลอบทิ้งสารเคมีลงพื้นที่รกร้างไหลลงคลอง ซึ่งพบว่าเป็นบุคคลมีรูปพรรณสัณฐานและมีรถคันเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ตรวจสอบพบ โดยสืบทราบมาว่าผู้กระทำความผิด เริ่มทำกิจการรับซื้อน้ำมันใช้แล้ว ต่อจากครอบครัวประมาณ 8 เดือน โดยรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากอู่ซ่อมรถยนต์และอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์ เพื่อนำไปขายต่อให้กับบริษัทที่ผลิตจารบี น้ำมันที่รับซื้อจะเป็นน้ำมันเก่าที่ใช้แล้ว ดังนี้ 1. น้ำมันจากการถ่ายน้ำมันเครื่อง 2. น้ำมันจากการถ่ายน้ำมันเกียร์ 3. น้ำมันจากการถ่ายเฟืองท้าย 4. น้ำมันจากการแช่เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ของอู่ซ่อมรถ

ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ เปิดเผยว่า เรื่องของการกำจัดของเสียอันตราย ทางเขตฯ และสำนักป้องกันสาธารณภัย ได้เตรียมตัวใช้กลไกของทางกรุงเทพมหานคร ส่วนสำนักงานอนามัย จะเข้ามาดำเนินการจัดเก็บและนำไปส่งตรวจพิสูจน์ บางอย่างอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นอะไรบ้าง และมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนอย่างไร โดยในวันนี้คงทยอยเก็บและใช้การตรวจพิสูจน์คาดว่าคงทำได้เร็ว เรื่องการสืบหาต้นตอที่มานั้น ก็เป็นนิสัย เราทำงานสืบสวนมา ดั้งนั้น เวลาเราอ่านรายงาน สิ่งใดที่เราคิดว่ายังไม่จบและเรามีความสงสัย เราก็ต้องทำให้มันจบ ทำให้เต็มที่ ดังนั้น การที่มีคนมาออกรับและยินยอมเสียค่าปรับ ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็เป็นเรื่องที่เรามีอำนาจเท่าไหร่ กฎหมายได้ให้อำนาจอะไรไว้ ทางเขตฯ ก็คงจะดำเนินการตามนั้น แต่ที่จะต้องมีทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาช่วยดู เพราะสิ่งที่เห็นนั้นกระทบกับสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน กระทบกับน้ำ กระทบกับดิน และมีการทิ้งกันมาก่อนเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ยังดีที่มีประชาชนแจ้งข่าวเข้ามาก่อน ดังนั้น ก็ต้องมาอุดรอยรั่ว ต้องไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ซ้ำ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่นี้ ทุกพื้นที่ที่เอาของเหลวในลักษณะที่เป็นกากและอาจจะเป็นสารที่มีพิษเข้ามาทิ้งแบบนี้ เป็นการไม่รับผิดชอบกับวิชาชีพของตัวเอง เมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องมีขั้นตอนการบำบัดและเอาไปทิ้งให้ถูกต้อง แต่ไม่ดำเนินการตามนั้น ตัดค่าใช้จ่าย จะเอาแต่กำไรกับต้นทุนที่ใช้ ไม่รับผิดชอบในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลเสียมาก ไม่อย่างนั้นต่อไปนี้แถวนี้ทุกอย่างจะมีปัญหาไปหมด แม้แต่สิ่งมีชีวิตก็จะได้รับสารพิษแบบนี้

สำหรับแผนการกำจัดสารเคมีอันตรายกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตทวีวัฒนา จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กำจัดกากสารเคมีอันตรายกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบปรับผู้ก่อเหตุตามมาตรา 33 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2565 ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้แก้ไขระงับเหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกหนังสือให้เจ้าของที่ดินจัดทำรั้วปิดกั้นรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะหรือของเสียอันตราย จัดเตรียมรถพร้อมวัสดุอุปกรณ์ในการเก็บรวบรวมขนส่งเพื่อนำของเสียอันตรายไปกำจัด ได้แก่ รถเจซีบี ถุงดำ สำหรับใส่ดินปนเปื้อนสารเคมี รถขนดินที่ปนเปื้อนเพื่อนำไปทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ขี้เลื่อย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รถน้ำ 2 คัน เครื่องอัดฉีดน้ำยา 2 ชุด ฉีดสารเคมีบริเวณจุดที่ลักลอบทิ้งของเสียอันตราย เพื่อให้ของเสียดังกล่าวเกาะตัวกันและตกตะกอน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่และบุคลากรในการเก็บรวบรวมของเสียอันตราย

ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวอีกว่า ทางกรุงเทพมหานครจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการดูแลแหล่งน้ำ รวมไปถึงเรื่องอากาศ และดินที่ปนเปื้อน โดยจะเอาสารเหล่านี้ไปตรวจสอบ อะไรที่ต้องมีการบำบัดแก้ไขก็ควรจะต้องทำ หากเป็นที่เอกชนที่เจ้าของไม่ได้ดูแล ทางเขตฯ ก็คงต้องเข้าไปดำเนินการ อีกอย่างคือต้องปิดพื้นที่ไม่ให้มีช่องว่าง ที่จะทำให้เขาเข้ามาใช้พื้นที่ในลักษณะแบบนี้ อย่างที่เราเห็นตรงนี้ติดกับคลองท่อ ซึ่งน้ำจะไหลไปออกคลองบางพรม แล้วเราจะป้องกันอย่างไร ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา

ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2565 ได้แก่ มาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ใดเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนนหรือในทางน้ำ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ แหล่งน้ำ ทางระบายน้ำ ที่อาบน้ำ ส้วม หรือที่ใส่มูลหรือเถ้า หรือสถานที่อื่นใดซึ่งอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม สกปรก มีการสะสมหรือหมักหมมสิ่งของมีการเททิ้งสิ่งใดเป็นเหตุให้มีกลิ่นเหม็น หรือละอองสารเป็นพิษ หรือเป็นหรือน่าจะเป็นที่เพาะพันธุ์พาหะนำโรค หรือก่อให้เกิดความเสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 26 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ก่อเหตุรำคาญในที่หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชนรวมทั้งกรระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา บรรดาถนน ทางบก ทางน้ำ รางระบายน้ำ คู คลอง และสถานที่ต่างๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญ ในการนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับการจัดและควบคุมเหตุรำคาญต่างๆ ได้

“เราต้องหาต้นตอให้เจอ เพียงแต่อย่าไปคาดหวังว่าจะเป็นอย่างที่เราคิด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น และจะไม่มีการช่วยเหลือใคร เพราะไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็คงไม่ต้องมาถึงที่นี่ ให้เขตฯ เป็นผู้ดำเนินการเองก็ได้ แต่พอดูรายงานแล้ว ทางท่านผู้ช่วยเลขาฯ เกิดความสงสัย จึงมาหารือกัน พอหารือกันแล้วก็จำเป็นที่จะต้องมาคลายความสงสัย ที่สำคัญคือต้องให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม” ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับการลงพื้นที่วันนี้มี นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางสาวศนิ จิวจินดา นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทวีวัฒนา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักอนามัย กระทรวงอุตสาหกรรม กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม สถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา มูลนิธิบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่








กำลังโหลดความคิดเห็น