xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิเสธ “ทำแท้งปลอดภัย” เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน จี้รัฐแก้ปัญหาเข้าไม่ถึง รพ.รัฐไม่ส่งต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.จี้รัฐออกกฎหมายลูกแก้ปัญหายังเข้าไม่ถึง ทำแท้งปลอดภัย” แม้มี กม.รองรับ พบ รพ.รัฐไม่ให้บริการและไม่ส่งต่อ ขณะที่ รพ.ให้บริการถูกกฎหมายมีน้อยเพียง 100 กว่าแห่ง ย้ำปฏิเสธทำแท้งเป็นการละเมิดสิทธิ สสส.ชี้ อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ทำแท้งถูกกฎหมาย ต้องรับการตรวจและปรึกษา สปสช.ย้ำทำแท้งถูก กม.อยู่ในสิทธิประโยชน์ ย้ำ ต้องเริ่มจากคุมกำเนิด จ่อปรับปรุงการจ่ายบริการอนามัยเจริญพันธุ์และทำแท้ง

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่โรงแรมนิกโก้ กทม. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ : สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย”

น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวว่า การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ซึ่งการขาดบริการฉุกเฉินด้านสูติกรรมหรือการปฏิเสธการทำแท้ง มักนำไปสู่การเสียชีวิตและเจ็บป่วยของผู้หญิงที่เป็นมารดา ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี ทั้งนี้ ก.พ. 2564 ไทยแก้ไขและบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งโดยไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 305 กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาให้บริการยุติตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด แต่พบว่ายังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ความล่าช้าในการส่งต่อ รพ.รัฐจำนวนมาก ยังไม่พร้อมให้บริการและไม่ส่งต่อ อาจทำให้อายุครรภ์เกินกฎหมายกำหนด ปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. เป็นต้น ส่วนปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่ง รพ.ที่ให้บริการ กสม.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งรัดออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ปัญหา เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง

“การยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่สังคมโลกให้ความสำคัญ กำหนดให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขจัดอุปสรรคต่างๆ ทั้งด้านกฎหมาย ระบบบริการ และทัศนคติของสังคม ที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อลดอัตราเสียชีวิตและเจ็บป่วยของมารดาจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น โดยจะนำข้อมูลข้อเสนอแนะจากเวทีนี้ไปประกอบจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2565 เสนอต่อ ครม.และรัฐสภาต่อไป” น.ส.พรประไพ กล่าว


นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305(5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 กำหนดให้หญิงมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน มีผลบังคับใช้อีก 30 วันนับจากวันประกาศ ส่งผลให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้มีความก้าวหน้าเรื่องกฎหมาย แต่ทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่ง ส.ค. 2565 มีเพียง 110 แห่ง ส่วนใหญ่ให้บริการอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ส่วนจำนวนผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จากข้อมูลสายด่วน 1663 ปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม ช่วง ก.ย. 2564 - ส.ค. 2565 มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติตั้งครรภ์ 30,766 คน จำนวนนี้มี 180 คน แจ้งว่า ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ ปัญหานี้เปิดช่องว่างให้ยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาปลอมหรือขนาดยาไม่ตรงกับอายุครรภ์ อาจตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจเสียชีวิต


น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการ กสม. กล่าวว่า ไทยยังมีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยจำนวนมาก แม้จะประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่แก้ไขใหม่แล้วก็ตาม รัฐจึงต้องจัดระบบสุขภาพเพื่อให้ผู้หญิงทั้งที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายและที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ เข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อจัดหาบริการยุติการตั้งครรภ์ที่จะไม่ทำให้ผู้หญิงหันไปใช้บริการที่ไม่ปลอดภัย ขจัดความล่าช้าในการให้การรักษาพยาบาลด้วย


วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดและอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะสังคมไทย ผู้หญิงส่วนหนึ่งมีความจำเป็นยุติตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากสุขภาพกาย สุขภาพจิต และทางสังคม ที่ผ่านมามีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่ยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จึงบรรจุ “การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” เป็นสิทธิประโยชน์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งการรับบริการต้องเป็นไปตามตามเงื่อนไขของกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา ครอบคลุมการให้บริการ ทั้งวิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Misoprostol 200 mcg + Mifepristone 200 mg ชนิด combination pack) ที่หน่วยบริการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา กับกรมอนามัย มีจำนวน 144 แห่ง ครอบคลุม 23 จังหวัด หรือด้วยวิธีศัลยกรรม เช่น การใช้กระบอกดูดสุญญากาศ, การใช้เครื่องดูดสุญญากาศไฟฟ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนการป้องกันภาวะท้องไม่พึงประสงค์และท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ได้จัดสิทธิประโยชน์ เช่น บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แบบชั่วคราว โดยให้บริการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวในหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ ยาคุมฉุกเฉิน ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด และยาฉีดคุมกำเนิด โดยยาคุมฉุกเฉินในปีงบประมาณ 2566 ได้เพิ่มบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง เป็นการให้บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร หญิงไทยวัยเจริญพันธ์ทุกสิทธิที่อยู่ในภาวะหลังคลอดหรือหลังแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด ได้แก่ บริการห่วงอนามัยและบริการยาฝังคุมกำเนิด

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ : สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” ว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งถูกกฎหมายเพียง 110 แห่งทั่วประเทศ แต่มี 9 แห่งที่ไม่ได้ดำเนินการ เหลือดำเนินการอยู่ครอบคลุม 38 จังหวัดเท่านั้น ส่วนใหญ่ให้บริการอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ที่น่ากังวลคือแพทย์บางส่วนไม่ทำหัตถการให้และไม่ส่งต่อให้ด้วย แม้บางรายมีข้อบ่งชี้ เราได้ส่งเรื่องให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภาแล้ว ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเอาผิด แต่ต้องการให้เกิดการปรับปรุง ทั้งนี้ จากข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์พบว่า สัดส่วนใน กทม.มากที่สุด แต่สถานพยาบาลหลายแห่งไม่ได้ให้บริการ จึงมีการยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อกำหนดเป็นนโยบายข้อที่ 216 ด้วย เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามที่กฎหมายมาตรา 305

ด้าน นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงการจ่ายเพื่อเพิ่มสิทธิการเข้าถึงอนามัยเจริญพันธุ์ปี 2566 กรณียุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย อาทิ ค่าตรวจ การให้คำปรึกษา เหมาจ่าย 360 บาทต่อครั้ง บริการตรวจอัลตราซาวนด์ เหมาจ่าย 400 บาทต่อการตั้งครรภ์ บริการยุติการตั้งครรภ์แบบเหมาจ่าย 3 พันบาทต่อการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากหน่วยบริการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ขอให้ดำเนินการส่งต่อ ส่วนการจ่ายบริการวางแผนครอบครัวและป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จะเป็นการจ่ายตามรายการบริการ อาทิ ค่ายาคุมกำเนิด ค่าใส่ห่วงอนามัย ค่าฝังยุมกำเนิด ค่ายาคุมฉุกเฉิน ค่าถุงยางอนามัย คาดว่าจะลงนามโดยเลขาธิการสปสช. และประกาศวันที่ 1 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดอนาคตอาจจะให้รับได้ที่ร้านขายยา


กำลังโหลดความคิดเห็น