กทม.จับมือ สสส. Kick Off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดล “อ่านสร้างลูก ลูกสร้างโลก!” หนุนสวัสดิการหนังสือ 3 เล่ม เพื่อเด็กปฐมวัย Sandbox “เขตวังทองหลาง” ฝ่าวิกฤต Learning Loss
วันนี้ (23 ก.ย.) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับนางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ประกาศปฏิญญาสนับสนุน “การจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย” ในงาน Kick Off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดล ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตวังทองหลาง จากนั้นลงพื้นที่ดูงานสื่อการเรียนรู้เพื่อเด็ก ที่ศูนย์ดูแลเด็กในชุมชน บ้านครูส้ม ชุมชนทรัพย์สินเก่า ลงพื้นที่ชุมชนเก้าพัฒนา ชมการทำไอติมดอกไม้ ปลูกผักสนุกจัง มุมหนังสือสำหรับเด็กและธรรมนูญชุมชน และชมการจัดพื้นที่การอ่านในชุมชน การออกแบบกิจกรรมพัฒนาเด็กหลังเลิกเรียนที่บ้านหนังสือชุมชนบ้านพลับพลาและศูนย์เด็กเล็กรุ่งมณีกับคุณหมอสันติ ชุมชนพลับพลา
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวาระเทศกาลเด็กและเยาวชน BKK เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง กทม.เราให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF และศักยภาพทุกด้านจากภาวะถดถอยหรือ Learning Loss ช่วงโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน 9 มิติ ทั้งด้านสุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ฯลฯ ซึ่งพบว่า หนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านช่วยพัฒนาเด็กเล็กได้เต็มศักยภาพ ขอขอบคุณเครือข่าย ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยชุมชน ที่ร่วมกันสร้างรูปธรรมให้ปรากฏ กทม.เองก็พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลอย่างจริงจังเพื่อให้นโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยที่ผู้ว่าฯกทม.ประกาศรับไว้บรรลุผล โดยจะนำกิจกรรมในงานวันนี้เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่ชุมชนทั่วพื้นที่กรุงเทพฯต่อไป
“ผมต้องขอขอบคุณ องค์กรเจ้าภาพร่วมจัด และทุกท่านในที่นี้ ที่ได้ช่วยกันทำให้งาน Kick Off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดลนี้ สำเร็จลงได้ด้วยดี และสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางและรูปธรรมในระดับพื้นที่ขององค์กรชุมชนที่เป็นกลไกที่สำคัญในการฟื้นฟูการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กปฐมวัยจากวิกฤตการเรียนรู้ที่ถดถอย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ลูกหลานของพวกเราสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัยซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก” รองฯ ศานนท์ กล่าวชื่นชมและหนุนเสริมแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย
นางญาณี กล่าวว่า หนังสือนิทานเหมือนหน้าต่างบานแรก ที่บ่มเพาะให้เด็กปฐมวัยอายุ 0-6 ปี ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าผลกระทบทางสังคมช่วงโควิด-19 เด็กเล็กมีพัฒนาด้านการอ่านน้อย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ และการอ่านทำให้เกิด “การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต” (Lifelong learning) ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่องขณะที่ สสส. พบว่า หนังสือนิทานส่งเสริมทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม 4 ข้อ คือ 1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายเพราะเปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหว แสดงบทบาทสมมติตามเนื้อหาในนิทาน ซึ่งจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ 2. ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เพราะนิทานจะสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ทำให้มีความสุข และสุขภาพจิตดี 3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม การที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทานให้เด็กฟัง จะสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว 4. ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา เพราะหนังสือนิทานช่วยให้เด็กมีจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กมีทักษะการสื่อสาร ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เหมาะสมตามวัย
ทั้งนี้ BKK-เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง Kick Off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดลสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย : โอกาสและความร่วมมือฟื้นฟูการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กปฐมวัยจากวิกฤติ Learning Loss ในวันศุกร์ที่ 23 ก.ย. 65 จัดขึ้นระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมวังทอง 1 ชั้น 6 สำนักงานเขตวังทองหลาง ประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการอ่านพัฒนา EF สมรรถนะเด็กสร้างได้ อ่านหนังสือให้หนูฟังหน่อย Q&A มหัศจรรย์แห่งการอ่าน ปฏิบัติการอ่านบ้านบ้าน ชมเปิดคลิปวิดีโอ การอ่าน : หน้าต่างแห่งโอกาสเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย การบรรยาย “วิกฤต Learning Loss ทางรอดของเด็กด้วยสวัสดิการการอ่าน” โดย พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี จากเพจหมอแพมชวนอ่าน กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การเสวนา “ชุมชนอ่านยกกำลังสุข : แนวทางการจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดย อังคณา ขาวเผือก ผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ชำนาญ สุขีเกตุ : ประธานชุมชนเก้าพัฒนา นวลใย พึ่งจะแย้ม : คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนน้อมเกล้า ร่วมเสวนา พิธีมอบหนังสือรับขวัญเด็กแรกเกิดในชุมชนน้อมเกล้า
กิจกรรมวันนี้มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคีเครือข่ายการพัฒนาเด็ก ผู้บริหารเขตวังทองหลาง เครือข่ายชุมชนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย พี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชน สอช. เครือข่ายสวัสดิการกรุงเทพมหานคร แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สำนักงานเขตวังทองหลาง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ICAP มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิ 1 อ่านล้านตื่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ชุมชนน้อมเกล้า ชุมชนเก้าพัฒนา ฯลฯ เข้าร่วมงาน