xs
xsm
sm
md
lg

เอเอฟเอส ประเทศไทย 2580 จากโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน สู่โครงการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส ประเทศไทย) จัดงานฉลองครบรอบปีที่ 60 พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบัน และแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพลเมืองโลกที่มีคุณค่า พร้อมพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน จัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “Global Citizenship for the Future” คือ การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับในความแตกต่าง เพื่อสันติสุขของสังคมโลก โดยมีบุคคลที่สำคัญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานครั้งนี้ เช่น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คุณหญิงณัฐิกา อังอุบลกุล เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ผู้บริหารสถานศึกษา อาสาสมัคร นักเรียนเก่า และคณะกรรมการมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย เพื่อร่วมกันผลักดันภารกิจของเอเอฟเอส ประเทศไทย ในการสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณค่า เพื่อการพัฒนาสังคมโลกอย่างยั่งยืน

เอเอฟเอส ประเทศไทย เป็นองค์กรนานาชาติผู้บุกเบิกโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรมรายแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 จากผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 14 คน ปัจจุบันได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณค่าแก่สังคมไทยและสังคมโลกมาแล้วมากกว่า 62 รุ่น เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิต-ชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นายเสกสรร ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ และมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 22,000 คน

องค์กรเอเอฟเอสก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างสันติสุขขึ้นบนโลก ด้วยความรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน จึงเกิดเป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยม

เอเอฟเอสขึ้นในทวีปยุโรป ก่อนที่จะขยายสู่ทวีปอื่นๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา ปัจจุบันเอเอฟเอสมีสำนักงานอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งผู้เข้าร่วมโครงการไปแลกเปลี่ยนยังประเทศต่างๆ และรับผู้เข้าร่วมโครงการจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศของตน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งด้านการศึกษาและวัฒนธรรม (Intercultural Learning) อันจะนำมาซึ่งความรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการมูลนิธิ เอเอฟเอส ประเทศไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการมูลนิธิ กล่าวว่า “ตลอด 60 ปีผ่านมา ในการดำเนินงานของมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทยนั้นผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างมากมาย มีความท้าทายต่อการดำเนินงานของมูลนิธิ แต่ทุกครั้งก็ผ่านสถานการณ์เหล่านั้นมาได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคณะกรรมการมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ครู อาจารย์ ครอบครัวอุปถัมภ์ และนักเรียนเก่าเอเอฟเอส ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนงานของมูลนิธิมาโดยตลอด”

เอเอฟเอส ประเทศไทย ดำเนินงานในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization) ซึ่งมีหัวใจที่สำคัญในการดำเนินงาน คือ “อาสาสมัคร” ที่ไม่ได้รับผลตอบแทนในการดำเนินงาน “งานของเอเอฟเอสนั้นเป็นงานที่ต้องทำด้วยใจ เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องแยกออกมาจากครอบครัวนั้น เขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งในสังคมที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่าง อาสาสมัครก็จะคอยเป็นผู้ช่วยเหลือ ดูแล และให้คำปรึกษาแก่เขาเสมือนกับคนในครอบครัว ซึ่งหลังจากที่ผ่านระยะเวลา 1 ปีนั้นก็จะเกิดเป็นความผูกพันกันในระยะยาว เหมือนกับผมและครอบครัวอุปถัมภ์ที่ยังคงติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน” นายสนั่น กล่าว

ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ เอเอฟเอส ประเทศไทย
ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ เอเอฟเอส ประเทศไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของเอเอฟเอส ประเทศไทยในอีก 15 ปีต่อจากนี้ไป ในหัวข้อ “การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิตสู่การเป็นพลเมืองโลก” ซึ่งกล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย ในการผลัดดันองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายของการสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณค่าได้อย่างยั่งยืน ผ่านการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และยอมรับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม อันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลได้อยู่ตลอดเวลา

“การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต หรือ Intercultural Lifelong Learning คือ เป้าหมายสำคัญของเอเอฟเอส ประเทศไทยใน 15 ปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเป้าหมายที่ 4.7 จะเห็นได้ว่าเป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบูรณาการให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในสังคมโลกปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ที่จะไม่มีกำแพงกั้นระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น ผู้เรียนทุกคน ซึ่งหมายถึงคนในทุกช่วงวัยที่ต้องการเรียนรู้จะต้องสามารถเข้าถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นในการเป็นพลเมืองโลก และเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมได้ เอเอฟเอส ประเทศไทย จะขยายโอกาสการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งจะไม่ถูกจำกัดสำหรับกลุ่มเยาวชนหรือการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น สำหรับกลุ่มเยาวชน จะมีการขยายโครงการครอบคลุมตั้งแต่ระดับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงมหาวิทยาลัย ทั้งรูปแบบกิจกรรมในประเทศและโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระยะสั้น เช่น โครงการค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ อีกทั้งการขยายโอกาสไปยังบุคลากรวัยทำงาน ที่ต้องการจะ Upskill & Reskill เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองโลก นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร พัฒนาสังคม ตลอดจนพัฒนาประเทศและโลกของเราให้มีความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมไปถึงการพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อายุไม่ได้เป็นอุปสรรค หากตั้งใจที่จะเรียนรู้ และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ แน่นอนว่าผู้สูงวัยไม่สามารถกลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีกครั้ง แต่อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ก็มาพร้อมกับโอกาสในการเรียนรู้ที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ทำให้วัยที่เพิ่มขึ้นนั้นเปี่ยมล้นไปด้วยคุณค่า” ผศ. ดร.วัชรพจน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น