อธิบดีกรมการแพทย์แจง "อนุทิน" ติดโควิดอาการเล็กน้อย แต่รับยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ยา คือ อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีปัจจัยเสี่ยงร่วม คือ น้ำหนักเกินหรือเข้าข่ายอ้วน และอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เป็นข้อมูลผู้ป่วย แพทย์ประเมินแล้วว่าเข้าข่าย ไม่ได้ให้ยาโดยอภิสิทธิ์
จากกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดเชื้อโควิด 19 หลังกลับจากต่างประเทศ โดยมีอาการเล็กน้อย รับการรักษาที่บ้าน แต่แพทย์พิจารณาจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์นั้น ทำให้มีข้อสงสัยเรื่องของสิทธิพิเศษในการรักษา
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ว่า การจ่ายยาตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ชัดเจนว่า โมลนูพิราเวียร์ใช้สำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยอาจจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ซึ่งต้องเรียนว่าข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ แต่ถ้าประเมินด้วยสายตา จะเห็นว่าท่านรองนายกฯ น้ำหนักเกิน จะว่าเข้าข่ายว่าอ้วนก็อ้วน และมีอาการเล็กน้อย โดยหลักการก็เข้าข่ายว่าสามารถให้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ ซึ่งท่านอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ แพทย์ที่รักษาก็ประเมินแล้วว่าเข้าข่าย ซึ่งเป็นการให้ปกติตามเกณฑ์
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การจ่ายยารักษาโควิดนั้น ถ้าไม่มีอาการอะไรเลย ก็ดูตามอาการไป บางท่านอาจกินฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่สามารถให้ได้ ถ้าเริ่มมีอาการเล็กน้อย แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่อ้วน น้ำหนักไม่เกิน ก็จ่ายยาฟาวิพราเวียร์ให้เร็วที่สุด ถ้าอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น น้ำหนักเกิน อ้วน หรือกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ให้ยาตัวใดตัวหนึ่งได้ ทั้งโมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิดหรือยาฉีด หรือถ้ามีอาการปอดอักเสบแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฉีดเรมดิซิเวียร์ได้เลย หรือร่วมกับยาสเตียรอยด์บางอย่าง ก็ตรงไปตรงมาตามนี้
"กรณีของท่านรองนายกฯ ก็ยืนยันว่า แพทย์ประเมินแล้วว่าเข้าข่ายให้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ เลย การจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์สามารถให้แบบผู้ป่วยนอกได้" นพ.สมศักดิ์กล่าว
ถามว่าจะปรับเกณฑ์แนวทางการจ่ายยาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ มีการปรับมาอย่างต่อเนื่อง อย่างตอนยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดเข้ามา อาจารย์หลายท่านบอกอยากปรับเกณฑ์ให้เอื้อมากขึ้น เพราะการศึกษาวิจัยทั้งโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดออกมาคล้ายกัน คือ ให้ในคนที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก็ชัดเจนว่าควรให้ ถ้าอาการมากแล้วก็ไม่แนะนำว่าให้ โดยเฉพาะโมลนูพิราเวียร์ชัดเจนว่า ถ้าอาการมากแล้วไม่สามารถลดอัตราการเข้า รพ.หรือเสียชีวิตได้ ให้แนะนำเป็นยาฉีด