xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.แจง "อนุทิน" ฉีดวัคซีนหลายเข็มยังติดโควิดได้ จ่ายยาโมลนูฯ ตามดุลยพินิจหมอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.แจง "อนุทิน" ฉีดวัคซีนโควิดหลายเข็มแต่ติดเชื้อ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการรุนแรง ส่วนการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์อยู่ในการพิจารณาของแพทย์ ย้ำยังต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนด ป้องกันตนเอง ช่วยอยู่กับเชื้อได้หลังพ้นการระบาดใหญ่ จ่อขยายการดูแลผ่านคลินิกเหมือนไข้หวัด อัตราครองเตียง ตจว.ยังมีมากพอรองรับ

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการติดเชื้อโควิด 19 ของนายอนุทิน ชาญสีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แม้จะรับวัคซีนโควิด 19 มาแล้ว 6 เข็ม ว่า ท่านรองนายกฯ อนุญาตให้แจ้งสาธารณชนรับทราบถึงการติดเชื้อหลังเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อตรวจ ATK ก็พบว่าขึ้น 2 ขีด ส่วนคนในทีมที่เดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ทั้งนี้ จากการประเมินอาการของรองนายกฯ ก็พบว่าน้อยมาก น่าจะเป็นผลจากการฉีดวัคซีน ไม่จำเป็นต้องรับไว้ใน รพ. ก็รักษาแบบผู้ป่วยนอกและกักตัวที่บ้าน โดยได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ โดยจะติดตามอาการต่อเนื่อง

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ปกติแล้ววัคซีนมีประโยชน์ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ บรรเทาความรุนแรงของโรค ตั้งแต่ที่เราเจอโควิดมา พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ 80-90% หมายถึงว่า 10% ก็มีโอกาสติดอยู่ หมายถึงคนที่มีภูมิมากก็ป้องกันได้มาก คนภูมิน้อยก็ป้องกันได้น้อย แต่ป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ถึง 99% โดยเฉพาะคนที่ได้รับบูสเตอร์โดสแล้ว ซึ่งขณะนี้เราก็เร่งรัดการฉีดเข็มกระตุ้นอยู่ ซึ่งคนมีความเชื่อว่าแม้ฉีดวัคซีนหลายเข็มก็มีโอกาสติดเชื้อจึงไม่มาฉีด เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง อย่างน้อยเข็มบูสเตอร์ไม่ว่าครั้งที่ 1 หรือ 2 ก็ลดความรุนแรงของโรคได้เช่นกัน

"ถ้าภูมิเราตกโอกาสติดเชื้อมีอาการรุนแรงก็จะมีสูง ถ้ามีการกระตุ้น ซึ่งปกติวัคซีนกระตุ้นปีละครั้ง แต่เชื้อโรคนี้ไม่ยอม ต้อง 4 เดือน หรือ 3 เดือนในกลุ่มเสี่ยงต้องมากระตุ้น จะช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ แต่ยังสนับสนุนให้คนป้องกันตนเอง 2U คือ Universal Prevention การดูแลตนเอง ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือ และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีนให้ครบ 3 โดสและกระตุ้นตามกำหนด ซึ่งเป็นหลักการหลักในการอยู่กับโควิดใน Post Pandemic" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ถามถึงกรณีอาการไม่มาก แต่ต้องให้ยาโมลนูพิราเวียร์ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ปัจจุบันเรามียาใช้ในการดูแล คือ ยาตามอาการ คนอาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส ถ้าอาการมากขึ้นก็จะมีข้อบ่งชี้ตามแนวทางการดูแลรักษา (ไกด์ไลน์) ของกรมการแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการผู้ป่วยและสั่งยา เมือ่ไรถึงให้ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิเราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด ก็จะมีเกณฑ์อยู่แล้วตามแนวทางไกด์ไลน์

ถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ในต่างประเทศก็มีการอนุมัติให้ใช้แล้ว บริษัทวัคซีนก็ต้องมาขออนุมัติขยายอายุการฉีดเพิ่มเติมกับทาง อย. ซึ่งวัคซีนที่ใช้เราก็มีอยู่แล้วก็จะนำมาใช้ในเด็กที่ต่ำกว่า 5 ขวบได้

ถามต่อว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ให้ข้อมูลว่าเดือน ก.ค.จะเป็นจุดพีค มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ สธ.ลดมาตรการ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า เราอยู่กับโควิด เราให้ความสำคัญกับการป่วยหนักและเสียชีวิต การติดเชื้อก็ไม่มีความรุนแรง บรรเทาความรุนแรงไปมากจากตัวโรคเองและการฉีดวัคซีน ถ้าเราให้ความร่วมมือมาฉีดวัคซีนให้มากที่สุด โรคก็จะอ่อนแรงไปด้วย ถ้ากำลังเราไม่ดี แม้โรคจะอ่อนแรงตามลำดับก็ไม่ทันกัน คนที่ป่วยหนักหรือมีความเสี่ยงได้รับเชื้ออาจจะป่วยหนักได้ แต่ถ้าเพิ่มให้มีภูมิมากพอ โรคก็ลดกำลังลง เราเจอก็ไม่เป็นอะไร

"ขณะนี้ความรุนแรงลดลงไปมาก เพราะฉะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนที่เราก็วางกำลังเฝ้าระวังอยู่ แต่ที่กลัวคือป่วยหนักและมาใช้ แล้วระบบสาธารณสุขเรารองรับไม่ได้ สมัยก่อนโควิดมีคนเป็นหวัดเป็นแสนคน บางคนดูแลรักษาตัวเอง ซื้อยากินเอง เป็นมากหน่อยไปหาหมอตามคลินิก เป็นมากไป รพ. ถ้ามากๆ ก็อาจต้องแอดมิท มีเชื้อมาก มีไข้สูง ขณะนี้กำลังวางแผนการดูแลรักษาโควิด 19 นอกจากระบบผู้ป่วยนอกและการรักษาใน รพ.ก็กำลังจะวางขยายไปสู่ระบบคลินิก ให้หมอสั่งยาทางคลินิกได้ ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น

ถามต่อว่าหลังจากให้ถอดหน้ากากตามสมัครใจ มีการติดตามหรือไม่ว่ามีการถอดหน้ากากมากขึ้นหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สธ.แนะนำให้สวมหน้ากาก เป็นการป้องกันไม่ว่าโรคใดๆ ทั้งฝุ่นละออง โรคทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ก็สามารถป้องกันได้อยู่แล้ว เรื่องนี้เราประกาศออกไปเป็นเรื่องเพื่อเตรียมการอยู่กับโควิด จากการสังเกตก็เห็นว่า ช่วงแรกๆ ประชาชนก็ยังใส่ไปก่อน แต่าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนก้คงพิจารณาถอดบ้างใส่บ้างตามความรู้ วึ่งเราให้ไปแล้ว ไม่ได้เป็นการบังคับ เท่าที่ดูตามที่ต่างๆ คนก้ยังใส่อยู่เยอะ ถือว่าเป็นผลดี

ถามต่อถึงอัตราการครองเตียงในภูมิภาค นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ภูมิภาคต่ำมาก แต่ไม่ถึง 10% ใน กทม.ตัวเลขสูง ในต่างจังหวัดติดเชื้อต่ำกว่าวันละร้อยคน


กำลังโหลดความคิดเห็น