MGR Online - ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ แจงแพทย์ทัณฑสถานหญิงกลาง ทำตามจรรยาบรรณวิชาชีพ-สิทธิมนุษยชน รักษาผู้ต้องขังตามมาตรฐาน ไม่ควรสร้างเรื่องให้เข้าใจผิด
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีแพทย์ประจำทัณฑสถานหญิงกลาง ถูกกล่าวหาว่า กระทำการละเมิดผู้ต้องขังหญิงด้วยคำพูดข่มขู่ เสียดสี และคุกคาม ขณะทำการตรวจรักษาอาการป่วย ว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว ได้เข้าพบแพทย์ด้วยอาการแสบท้องจากการอดอาหาร เพื่อทำการตรวจประเมินอาการต่อเนื่อง และจ่ายยาเพิ่ม เนื่องจากยาชุดเดิมที่ถูกสั่งจ่ายไว้จากแพทย์ท่านอื่นได้หมดลง โดยแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจรักษาประจำสถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงกลางในห้วงเวลาดังกล่าว ได้ดำเนินการซักประวัติเพื่อประกอบการวินิจฉัยอาการป่วย รวมถึงได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพิ่มเติมเพื่อมิให้เกิดการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์ว่า ไม่ขอรับยารักษาโรค และไม่ขอรับการรักษา รวมถึงไม่ขอรับคำแนะนำจากแพทย์แต่อย่างใด จากนั้นได้กลับเรือนนอน และปฏิบัติภารกิจประจำวันตามปกติ
นายแพทย์วัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า ยืนยันว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว รวมถึงผู้ต้องขังทุกรายในการควบคุมดูแล ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) ของกรมราชทัณฑ์ และตามหลักสิทธิมนุษยชนและแพทย์ที่ถูกกล่าวหา เป็นแพทย์อายุรกรรมเกษียณอายุแล้ว แต่มีจิตสาธารณะช่วยตรวจผู้ต้องขังป่วยภายในเรือนจำ อุทิศเวลามาให้การรักษาดูแลผู้ต้องขังหญิงภายในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำอื่นมาแล้ว 15 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น หรือได้รับข้อร้องเรียนจากการรักษาโดยแพทย์ท่านดังกล่าวแต่อย่างใด
“หลายๆ ครั้ง ผู้ป่วยบางรายพยายามสร้างประเด็นปัญหา สถานพยาบาลจะจัดพยาบาลคอยช่วยสนับสนุนแพทย์ระหว่างตรวจผู้ป่วยทุกครั้ง ไม่ได้อยู่เพียงลำพังเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกิดข้อร้องเรียนตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในการรักษาทุกคนตามมาตรฐานวิชาชีพ” นายแพทย์วัฒน์ชัย กล่าว
นายแพทย์วัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ภายในเรือนจำขาดแคลนมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทุกท่านปฏิบัติภารกิจเต็มกำลังเต็มความสามารถ ทำให้ภารกิจในช่วงวิกฤตผ่านไปได้ โดยอัตราการสูญเสียต่ำเมื่อเทียบกับภายนอก ทุกท่านทำงานตรากตรำเพื่อการป้องกัน ดูแลรักษาผู้ต้องขังป่วย ตามจรรยาบรรณวิชาชีพเช่นเดียวกับโรงพยาบาลภายนอก หลายๆ ครั้ง การเกิดประเด็นด้านต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ยากลำบากขึ้น ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยลดลงและเป็นการบั่นทอนกำลังใจทีมบุคลากรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษาให้บริการสุขภาพแก่ผู้ต้องขัง ขอความกรุณาในส่วนนี้