xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยข้อสันหลังอักเสบ ร้อง "บัตรทอง" ไม่ครอบคลุม "ยาชีวภาพ" ป้องกันพิการ ขอขยายสิทธิหลังหมดสิทธิบัตร ราคาถูกลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด ยื่น สปสช.ขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมยากลุ่มสารชีวภาพ ชี้ช่วยชะลออาการกระดูกติดและอาการปวด ช่วยมีชีวิตปกติ ป้องกันภาวะพิการ เผยเป็นยาราคาแพง ต้องใช้รักษาต่อเนื่อง ทำผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ระบุยาหมดสิทธิบัตรแล้ว มีการผลิตยาสามัญราคาถูกลง 4-5 เท่า

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายทศพล ทุมมาลา นายกสมาคมผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนและตัวแทนผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอให้พิจารณาแก้ปัญหาการเข้าถึงการรักษา ทั้งนี้ โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึดเป็นโรคหากยาก มีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ อาการช่วงแรกคล้ายกับออฟฟิศซินโดรม เริ่มจากปวดหลัง ผลของโรคจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อกระดูกสันหลังและข้อต่ออื่น มีอาการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อและเอ็นยึดกระดูก การอักเสบเรื้อรังนี้ทำให้ร่างกายสร้างกระดูกมาแทนส่วนที่อักเสบจนกระดูกเชื่อมติดกัน สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างมาก การรักษาปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่แรกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและได้รับยากลุ่มสารชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูงในการกดภูมิคุ้มกัน จะช่วยชะลอโรคได้ ยาดังกล่าวมีราคาสูงมาก ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่เข้าถึงยาจึงเป็นกลุ่มที่พอมีกำลังจ่ายและมีสิทธิข้าราชการที่ได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี ปัจจุบันสมาคมฯ รวบรวมผู้ป่วยโรคนี้ได้ 441 คน แต่คาดว่าทั่วประเทศน่าจะมีราว 2,000 คน

"เมื่อ 20 ปีที่แล้วช่วงที่ผมเริ่มป่วย ยานี้ราคาแพงมาก เข็มละ 1 แสนบาท ต้องฉีดสัปดาห์ละครั้ง เมื่อร่างกายตอบสนองต่อยาดี ก็ให้ยาห่างออกไป แต่ผมไม่ได้ใช้ยานี้ รักษาด้วยวิธีกินยาตามอาการแทน เคยกินยามากสุดวันละ 12 เม็ด ต่อมาทำให้ข้อสะโพกติดจนเดินไม่ได้ต้องผ่าตัด และต่อมากระดูกหลังงองุ้มทำให้ใช้ชีวิตลำบากต้องผ่าตัดอีก โชคดีที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ทำงานในออฟฟิตก็ยังทำงานได้ แต่หากเป็นงานที่ต้องเคลื่อนไหวคงต้องออกจากงาน กระทบต่อครอบครัว” นายทศพลกล่าว


ด้าน นายปรกณ์ ผลพงษ์ รองนายกสมาคมผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึด กล่าวว่า ตนเคยเข้าร่วมกลุ่มผู้ป่วยข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึดในต่างประเทศ พบว่า ผู้ป่วยไทยที่เข้าถึงยามีอัตราต่ำมาก จากผู้ป่วย 100 คน มีผู้ได้รับยา 5 คน ส่วนสิงคโปร์อัตรา 1 ต่อ 2 ที่ผู้ป่วยได้รับยา ทั้งนี้ ยาชีวภาพมีประสิทธิภาพดี อย่างตนป่วยปี 2555 ก็ใช้ยากลุ่มสารชีวภาพนี้ ค่าใช้จ่าย 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 3-4 แสนบาทต่อปี ตนพอมีกำลังจ่ายจึงรับยามาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ไม่เกิดภาวะกระดูกติด อาการปวดหายไป ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ถือว่ายาช่วยได้มาก แต่ราคาสูงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาน้อยมาก ขณะที่สิทธิรักษาภาครัฐยังดูแลไม่เท่าเทียม โดยไม่ครอบคลุมสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"ยาดังกล่าวหมดสิทธิบัตรแล้ว ทำให้มีการผลิตยาสามัญที่ราคาลดลง 4-5 เท่า ค่ายารักษาต่อเดือนไม่ถึงหมื่นบาท เป็นราคาที่ผู้ป่วยพอเข้าถึงได้ และอาจถูกลงอีกหากจัดซื้อรวม หากภาครัฐสนับสนุนการเข้าถึงยาเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคอื่น จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ มีความคุ้มค่า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียนและวัยทำงาน จึงได้ยื่นหนังสือต่อ สปสช. เพื่อสะท้อนปัญหาผู้ป่วยโรคนี้ ขอช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิผลและมีชีวิตที่ดี แต่หากภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ 100% สมาคมฯ ยินดีร่วมกัน เช่น ขอให้ภาครัฐดูแลค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในช่วง 3-5 ปีแรก เมื่ออาการดีขึ้นผู้ป่วยอาจดูแลตนเองในระยะยาวได้” นายปรกณ์ กล่าว


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ป่วย รวมถึงกลุ่มโรคหายาก โดยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึดเป็นโรคที่พบผู้ป่วยน้อยมาก ภาวะโรคทำให้เกิดความพิการและกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยรุนแรง แต่รักษาและชะลออาการได้ จากข้อมูลที่ สปสช.ได้รับจากสมาคมฯ และตัวแทนผู้ป่วย จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและดำเนินการต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น