กรมวิทย์เปิดตัวชุดตรวจ Test Kann หา THC ในสารสกัดและน้ำมันกัญชา รู้ผลใน 15 นาที หากเกิน 0.2% ขึ้น 1 ขีด น้อยกว่าหรือไม่มีขึ้น 2 ขีด ราคาไม่เกิน 100 บาท ช่วยผู้ประกอบการตรวจปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ THC ไม่เกิน กม.กำหนด เตรียมผลิตแจก 1.5 หมื่นชุด เปิดถ่ายทอดเทคโนโลยีบริษัทไปทำขาย แจงตรวจในอาหารต้องส่งแล็บ ค่าใช้จ่ายสูง 5 พันบาท เล็งจับมือ รพ.ใหญ่ เจาะเลือดผู้ป่วยรับผลกระทบกัญชา วิจัยระดับสาร THC ก่อให้เกิดอาการอย่างไร
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวพัฒนาชุดตรวจกัญชา "Test Kann (เทสต์ กัญ)" ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 30 ว่า นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ แม้จะปลดล็อกทุกส่วนของกัญชากัญชงออกจากยาเสพติดแล้ว แต่ยังยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% การจะรู้ว่าปริมาณเกินหรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพัฒนาการตรวจพิสูจน์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การตรวจหาปริมาณสารสำคัญกัญชาในสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ สามารถตรวจได้ทั้งทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เช่น อาหาร คุกกี้ ช็อกโกแลต ว่ามีกัญชาใส่ไปมีมากน้อยแค่ไหน สามารถบอกได้เลยว่ามีกี่มิลลิกรัม แต่ราคาค่อนข้างแพง ค่าตรวจ 5 พันบาท และการตรวจด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย มี 2 ชุด คือ
1.ชุดทดสอบ THC Test Kit ซึ่งพัฒนามาจากชุดทดสอบเดิมที่เชียงใหม่ในการตรวจ THC ในกัญชง โดยนำมาพัฒนาเป็นชุดทดสอบที่ตรวจวัดพืชกัญชาและสารสกัดกัญชา ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมาะกับคนทั่วไป เพราะขั้นตอนในการตรวจต้องมีความแม่นยำ เพื่อไม่ให้ค่าที่ตรวจคลาดเคลื่อน ผู้ตรวจต้องผ่านการอบรม และมีราคาแพง โดยชุดตรวจ 1 กระเป๋ามีราคา 4 พันบาท แต่จะได้อุปกรณ์ทั้งหมด เช่น อุปกรณ์ให้ความร้อน ชั่งน้ำหนัก น้ำยาต่างๆ สามารถตรวจได้ 20 เทสต์ เฉลี่ย 200 บาท ต่อเทสต์ แต่เมื่อใช้ตรวจหมดแล้วสามารถซื้อเป็นรีฟิลมาเติมได้ราคา 1 พันบาทต่อ 20 เทสต์ ราคาจะถูกลงมาเหลือ 50 บาทต่อเทสต์ ชุดทดสอบนี้ไม่เหมาะกับการนำมาตรวตัวอย่างเดียว เพราะไม่คุ้มค่า อาจต้องเป็นการรวมตัวกันเยอะๆ เพื่อตรวจเป็นแบบโรงงานหรือมีการตรวจบ่อยๆ
"ผู้ที่ตรวจต้องผ่านการอบรม ซึ่งผลการตรวจจะออกมาลักษณะขึ้นแถบสีชมพูแดงให้อ่านค่า THC ซึ่งจะมีสีของระดับ 0.2% โดยหาก THC น้อยกว่า 0.2% จะเป็นสีที่จางลง และหาก THC มากสีจะเข้ม โดยมีแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดมาอ่านค่าสีได้ว่า สีที่ออกมาคือปริมาณ THC เท่าไร จะดีกว่าการใช้ตาดู ซึ่งการตรวจจะช่วยให้คนทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ รู้ว่ามีปริมาณ THC มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกินกำหนด" นพ.ศุภกิจกล่าว
2.ชุดทดสอบกัญชา Test Kann ใช้ตรวจวัด THC ในสารสกัดและน้ำมันกัญชา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่าแบบแรก มีลักษณะตลับเหมือนการตรวจ ATK โควิด สามารถรู้ผลได้ใน 15 นาที โดยผลการตรวจหากไม่ขึ้นขัดมาเลย จะถือว่าชุดทดสอบมีปัญหา ใช้ไม่ได้ ต้องโยนทิ้ง หากขึ้นขีดเดียวที่ตำแหน่ง C ถือว่ามี THC มากกว่า 0.2% และกรณีขึ้น 2 ขี้ดที่ตำแหน่ง C และ T ถือว่ามี THC น้อยกว่า 0.2% โดยการตรวจใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี เป็นการจับกันระหว่างแอนติบอดีและแอนติเจนแบบแข่งขัน ดังนั้น หากมี THC เยอะก็จะแย่งจับจนขึ้นเพียงขีดเดียว แต่หาก THC น้อยหรือไม่มีก็จะไม่ไปแย่งจับ ทำให้มาขึ้นอีกขีดที่ตำแหน่ง T จะเห็นว่าการให้ผลจะแตกต่างจาก ATK โควิด
"ทุกขั้นตอนการตรวจต้องละเอียด ตรวจแบบลวกๆ ไม่ได้ เพราะค่าอาจคลาดเคลื่อน โดยให้เอาสารสกัดกัญชาใส่จนเต็มช้อน หากเกินหรือขาด นำไปเทใส่หลอดสารสกัด 1 เขย่าให้เข้ากัน ใช้หลอดหยดดูดสารสกัด 1 ขึ้นมาจนถึงขีดที่กำหนดและปล่อยลงในสารสกัด 2 และผสมให้เข้ากัน จากนั้นดูดสารสกัด 2 จนถึงขัดที่กำหนด และหยดลงในตลับ แม้เราจะทำให้ตรวจได้ง่าย แต่การตรวจต้องพิถีพิถัน ราคาต้นทุนทั้งหมดที่ทำไม่น่าเกินเทสต์ละ 100 บาท อยู่ในวิสัยที่ซื้อหาไปทำได้ แต่กรมวิทย์ไม่มีหน้าที่ทำขาย เราจะผลิตออกมาจำนวนหนึ่ง 1.5 หมื่นเทสต์ เพื่อแจกฟรีแต่จะแจกให้กลุ่มไหนสถานที่ไหนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จะขอหารือก่อน และจะประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทที่อยากนำไปผลิตขาย" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ชุดทดสอบเหล่านี้ถือว่าตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง แต่ย้ำว่าเป็นชุดตรวจเบื้องต้น จะนำผลไปฟ้องร้องดำเนินคดีเลยไม่ได้ เหมือนการตรวจยาบ้าแม้ผลตรวจออกมาจะเป็นฉี่ม่วงก็เอาผิดไม่ได้จนกว่าจะไปตรวจเลือด ซึ่งที่มุ่งหวังคือ คนที่ทำผลิตภัณฑ์ หรือน้ำมันกัญชาจะได้นำชุดทดสอบมาตรวจของตัวเองก่อนเบื้องต้น ถ้าเกินก็จะได้ปรับปรุงให้ลงมาไม่เกินจะได้ไม่ผิดกฎหมาย เป็นการช่วยคุ้มครองผู้บริโภค
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การตรวจอีกส่วนคือ การตรวจในคน เพื่อพิสูจน์ว่ากินหรือเสพกัญชาแล้วเกิดอาการหลากหลาย ทั้งประสาทหลอน ใจสั่น หัวใจหยุดเต้น เกิดจากกัญชามากไปหรือไม่ การตรวจมีทั้งตรวจจากปัสสาวะ แต่มีข้อเสียคือ มีการตกค้างอยู่ในปัสสาวได้นาน แม้จะหยุดกินหรือเสพไปแล้ว จึงไม่ตอบโจทย์ อีกวิธีคือการเจาะเลือด นำมาปั่นเอาพลาสมาไปตรวจ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การตรวจเลือกนั้น ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ความเข้มข้นของกัญชาในเลือดเท่าไรถึงบอกว่ามีปัญหา เพราะแต่ละคนมีการตอบสนองต่อกัญชาไม่เหมือนกัน เช่น บางคนกินคุกกี้ผสมกัญชาเล็กน้อยก็เวียนหัว ใจสั่น บางคนกินเป็นกล่องยังสบายดี
"การตรวจพลาสมาของผู้ป่วยว่าได้รับสารกัญชามากน้อยแค่ไหน จึงวางแผนทำเป็นการวิจัยด้วย โดยจะร่วมมือกับ รพ.ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ที่มีคนไข้ที่มีผลกระทบจากกัญชามารักษา ก็จะส่งพลาสมา 1.5 - 2 ซีซี มาตรวจ ซึ่งเป็นการตรวจด้วยเครื่อง มีความแม่นยำสูงว่ามี THC หรือ CBD กี่มิลลิกรัม ค่าตรวจคิดต้นทุนแล้ว 1.4 พันบาทต่อเทสต์ ต้องหารือว่า สปสช.จะจ่ายหรือไม่ แต่หากเป็นโครงการวิจัยก็จะตรวจให้ฟรี" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การตรวจจะบันทึกว่า ที่มีอาการหลอน หัวใจเต้นผิดปกติแบบนี้ มีกัญชาในเลือดเท่าไร จะช่วยให้มีข้อมูลสำหรับคนไทยว่า ปริมาณกัญชาเท่าไรถึงควรระวัง ช่วยให้แพทย์รักษาคนไข้ได้มากขึ้น ช่วยให้เรียนรู้ว่าจะเกิดอันตรายต่อใครอย่างไร และตรวจเพื่อยืนยันทางการแพทย์ให้สิ้นสงสัยว่าอาการเกี่ยวกับกัญชาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หาก รพ.ใดมีเครื่องตรวจก็จะช่วยพัฒนาให้ตรวจได้เอง โดยไม่ต้องส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ จะหารืออายุรแพทย์หรือจิตแพทย์ถึงข้อกำหนดผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการส่งตรวจ ซึ่งช่วงแรกอาจจะต้องกำหนดไว้กว้างก่อน แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วจะเห็นว่ากลุ่มไหนที่ควรส่งตรวจก็จะกำหนดให้แคบลงได้
เมื่อถามว่าจะมีชุดตรวจจากอาหารโดยตรงหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การตรวจในอาหารไม่ง่ายในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะมีองค์ประกอบต่างๆ ในอาหารมาก ซึ่งมีผลต่อวิธีตรวจ แต่หากต้องการตรวจอาหารก็สามารถส่งมาตรวจที่ห้องแล็บได้ แต่มีราคาสูง 5 พันบาท เพระาต้องมีขั้นตอนต่างๆ เช่น การกำจัดไขมันในอาหารออกไป ซึ่งวิธีการเหล่านี้ชาวบ้านไม่สามารถตรวจเองได้ ส่วนการจะพัฒนาชุดทดสอบที่เอาไปจุ่มในน้ำแกงหรืออาหารแล้วรู้ว่ามี THC เท่าไรก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่โดยหลักการเรียนว่ายังไม่มีบริษัทไหนในโลกทำออกมาได้ ถือว่าเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาในอนาคต
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนการตรวจในแล็บเอกชนอื่นๆ นั้น เนื่องจากสารสกัดมาตรฐาน THC ยังเป็นยาเสพติด การครอบครองของห้องแล็บยังทำไม่ได้ อย.กำลังปรับกฎหมายเพื่อให้แล็บเอกชนครอบครองสารมาตรฐาน THC ในการทำแล็บได้ ซึ่งขณะนี้ทำได้แค่ CBD ที่ไม่เป็นสารเสพติด ส่วนการทำมาตรฐานการตรวจนั้น เมื่อกรมวิทย์พัฒนาวิธีการตรวจในอาหาร ยา เครื่องสำอาง ก็จะยื่นของ ISO และมาตรฐาน และจะเปิดให้แล็บเอกชนเข้ามาทำการเทียบมาตรฐาน เป็นการพัฒนาไปด้วยกัน ซึ่งหลายแล็บก็เริ่มสนใจเข้ามา