(8 มิ.ย.65) เวลา 16.00 น. : นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมจุดประสานงานเพื่อคนไร้บ้าน กรุงเทพมหานคร ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน โดยมี ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มเส้นด้าย ร่วมตรวจเยี่ยม จากนั้นเดินทางไป ร่วมกิจกรรม “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” หวังคนไร้บ้าน เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน จัดโดย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ บริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) ที่ประกาศให้ วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 เป็น “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” โดยจัดกิจกรรมให้บริการคนไร้บ้าน เพื่อให้เข้าถึงการซักผ้าและการอาบน้ำ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ณ บริเวณหลังศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม เขตพระนคร
สำหรับการผสานความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ หนุนเสริมและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภาวะไร้บ้าน และการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือผลักดันนโยบายคนไร้บ้าน และการป้องกันกลุ่มเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ตั้งเป้าฟื้นโครงการ “บ้านอิ่มใจ” และขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ
การตรวจเยี่ยมวันนี้เริ่มต้นที่จุดประสานงานเพื่อคนไร้บ้าน กรุงเทพมหานคร ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยผู้บริหารได้เยี่ยมชมภารกิจและการดำเนินงานของจุดประสานเพื่อคนไร้บ้าน ประกอบด้วย 1. จุดบริการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) แนะนำสิทธิสวัสดิการสำหรับคนพิการ 2. จุดบริการกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) แนะนำสิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ 3. จุดบริการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีภาคกลาง ให้บริการตัดผม 4. ศูนย์บริการสาธารณสุข 5. จุฬาลงกรณ์ ให้บริการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น นอกจากนี้ผู้บริหารตรวจเยี่ยม "บ้านเช่าคนละครึ่ง" บริเวณตรอกสลักหิน เขตปทุมวัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป้าหมายของกรุงเทพมหานครในการลงพื้นที่สำรวจชีวิตความเป็นอยู่คนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงครั้งนี้ ต้องการทำให้คนไร้บ้านทุกคนไม่ไร้สิทธิในสังคม หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง กทม. ไม่อยากให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘คนไร้บ้าน’ จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ร่วมกับ สสส. พม. เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดย กทม. สนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เพราะเป็นโมเดลต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นว่าช่วยเหลือเรื่องที่พักและอาชีพของคนไร้บ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเริ่มสำคัญที่จะทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ดูโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เป็นไอเดียที่ดีมาก ถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่จะเป็นโมเดลฟื้นฟูโครงการอิ่มใจ เพื่อคนไร้บ้านกลับมาอีกครั้ง โดยจะนำเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อ โดยจะเน้นให้ที่อยู่อาศัยกับที่ทำงานของคนไร้บ้านใกล้กัน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการตั้งหลักชีวิต
“กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับปัญหา "คนไร้บ้าน" ซึ่งคนไร้บ้านต้อง"ไม่ไร้สิทธิ์" เราต้องรีบแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งขณะนี้เราให้ความสำคัญกับ"คนไร้บ้านหน้าใหม่" ซึ่งเป็นแค่กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ปัญหาทางบ้าน ขาดแคลนที่อยู่อาศัย หรือโควิด-19 ไม่ให้กลายเป็น "คนไร้บ้านถาวร" การแก้ปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ผมเชื่อว่าต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดงานหนึ่ง ” นายศานนท์ กล่าว
จากนั้น เวลา 18.00 น. รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางไปร่วมกิจกรรม “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ” ซึ่งมูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ บริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) จัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ บริเวณหลังศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม เขตพระนคร ในเวลา 18.00-22.00 น. เพื่อ “คนไร้บ้าน”แห่งราชดำเนิน โดยมีการจัดห้องอาบน้ำให้กับ “คนไร้บ้าน” ให้ได้มาชำระร่างกาย มีรถสุขาที่เอื้ออำนวยจากกรุงเทพมหานครมาบริการ และมีรถซักอบผ้าจากการจัดทำของบริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) ให้บริการซักผ้าอบแห้ง นอกจากนี้ยังมีร้านเสื้อผ้าที่ให้ผู้คนไร้บ้านเข้าไปเลือกสี เลือกไซส์ เลือกแบบตามที่ใจชอบ และมีรถ Food Truck จากกลุ่ม We Chef เข้ามาให้บริการด้านอาหารให้แก่ผู้คนไร้บ้านอย่างน้อย 3 คัน พร้อมกันนี้ยังมีการรับสมัครงาน จากโครงการจ้างวานข้าคอยรอผู้คนไร้บ้านให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคต ซึ่งมีจุดประสงค์ให้เรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการอาบน้ำและซักผ้าซึ่งต้องเป็นเรื่องสามัญสำหรับคนทุกคนซึ่งไม่ควรมีใครเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ รวมถึงเป็นการเคารพต่อสิทธิความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยถึงเรื่องราวชีวิต “คนไร้บ้าน” และการอาบน้ำซักผ้า ว่า “คนไร้บ้าน” เข้าถึงการซักผ้าและการอาบน้ำด้วยความยากลำบาก ทั้งที่สิ่งนี้ควรเป็นกิจวัตรประจำวันพื้นฐานของมนุษย์ การซักผ้าของพวกเขาจะต้องไปหาซักในห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ในห้องน้ำสวนสาธารณะ และที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บางคนซักผ้าเสร็จแล้วไม่สามารถหาที่สำหรับตากผ้าได้ต้องใช้วิธีสวมมันบนตัวทั้ง ๆ ที่เสื้อยังเปียกหมาด ๆ บนราวตากผ้าที่ชื่อว่า “มนุษย์” หากจะอาบน้ำ ต้องออกเดินทางไปหาอาบ ลักอาบในห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ในห้องน้ำสวนสาธารณะและที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยต้องลักลอบอาบอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ใครจับได้
จากสถิติพบว่า “คนไร้บ้าน” ซักผ้าอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง แม้การหาที่ซักผ้าจะยากลำบากแต่พวกเขายังพยายามซักเสื้อผ้าของตนเอง 2 วันต่ออาทิตย์ รวมถึงการอาบน้ำที่ยากลำบากแต่ยังพยายามอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง สถิตินี้บ่งบอกว่า “คนไร้บ้าน” ต้องการสุขอนามัยที่ดี ได้ใช้ชีวิตประจำวันที่ดี เพราะหมายถึงการมีสุขภาพกายและจิตที่ดี อีกทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสังคม ภาครัฐ หรือเพื่อนมนุษย์ ในการร่วมกันเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น รวมถึงให้การสนับสนุนต่อไปในอนาคต