สปสช.-มท. พร้อมภาคีเครือข่าย-มูลนิธิฯ ร่วมลงพื้นที่ชุมชนสถานีรถไฟหัวลำโพง หารือแนวทางช่วยเหลือ ‘คนไร้บ้าน’ เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล เล็งให้ความรู้-ประสานการย้ายสิทธิ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ครอบคลุม
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายสุริยศักดิ์ เหมือนอ่วม ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการทะเบียนและบัตร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อหารือถึงการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของกลุ่มคนไร้บ้านที่มีปัญหาสิทธิสถานะ โดยมีภาคีเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งองค์กร มูลนิธิที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา
ภญ.ยุพดี เปิดเผยว่า จากการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนอย่าง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำหน้าที่คอยช่วยเหลือดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน พบว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องของที่อยู่อาศัย หรือการประกอบอาชีพหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงปัญหาเรื่องของสุขภาพ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ทำสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่งในเรื่องของการจัดการที่อยู่อาศัยให้กลุ่มคนไร้บ้าน ในลักษณะบ้านเช่าแบบ Matching fund คือให้ผู้ไร้บ้านร่วมจ่ายส่วนหนึ่ง และทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ่ายส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในส่วนที่ยังคงเป็นปัญหาของคนกลุ่มนี้คือประเด็นเรื่องของสุขภาพ เช่น หน่วยบริการตามสิทธิอยู่ห่างไกล ยังไม่ได้ทำการย้ายสิทธิการรักษามาจากภูมิลำเนาเดิม ไม่รู้วิธีการ ฯลฯ ในประเด็นเหล่านี้ทาง สปสช. ได้เห็นถึงความสำคัญ โดยจะดำเนินการให้ความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ และช่วยประสานในเรื่องของการย้ายสิทธิการรักษา เพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ในขณะนี้กลุ่มคนไร้บ้านมีใบเสร็จค่าเช่าบ้าน ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการขอโอนย้ายสิทธิมาที่หน่วยบริการใกล้เคียงได้แล้ว ส่วนในกรณีของกลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชน ก็จะเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ สปสช. ช่วยสนับสนุน โดยมีกรมการปกครองเข้ามาร่วมช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะในที่สุดเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับบัตรประชาชน ก็เท่ากับว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิบัตรทองแล้ว สอดคล้องกับภารกิจที่ สปสช. ต้องการให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิและบริการรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุม
“แม้คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งอาจไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่การมีหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน ก็จะช่วยทำให้เขาอุ่นใจได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คนไร้บ้านหลายท่าน ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น และเริ่มมีอาการป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามมา ช่วยให้เกิดความสะดวกในการรับบริการ โดยที่มีสิทธิรับรองถูกต้อง ซึ่งในกรณีที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ ก็จะมีสายด่วน สปสช. 1330 ที่ช่วยประสานในการส่งต่อผู้ป่วยต่อไป” ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว
ด้าน นายสมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันกลุ่มคนไร้บ้านจะสามารถมีที่อยู่อาศัยได้ จากโครงการที่มูลนิธิฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัญหาด้านสุขภาพยังคงเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องด้วยกลุ่มคนไร้บ้านส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ซึ่งบางคนยังไม่ได้ย้ายสิทธิการรักษาตามมา ดังนั้นเมื่อมีอาการป่วยจึงต้องใช้วิธีหาซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการเอง หรือในบางกรณีที่ป่วยหนักจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ก็จะมีความกังวลในการเข้ารับบริการแต่ละครั้ง ที่จะถูกถามเรื่องเอกสารต่างๆ ฉะนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความซับซ้อนที่เกิดขึ้น คนไร้บ้านบางส่วนจึงเลือกที่จะไม่ไปรักษาในโรงพยาบาล
นายสมพร กล่าวว่า ขณะเดียวกันการไปรักษาที่โรงพยาบาลในแต่ละครั้ง หากต้องไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่เขาอยู่อาศัย ก็ย่อมทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งแน่นอนว่าลำพังเงินที่จะใช้ในการจับจ่ายซื้ออาหารเพื่อดำรงชีวิตก็แทบจะไม่เพียงพออยู่แล้ว รวมไปถึงกรณีไม่มีบัตรประชาชนด้วย
“ดังนั้นถ้ามีสถานพยาบาลที่สามารถให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวก รวมถึงอยู่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของเขา ก็จะช่วยเพิ่มช่องทางให้กลุ่มคนไร้บ้านได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และดูแลรักษาสุขภาพของตนเองได้” นายสมพร กล่าว