สธ.เผย ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 เพียง 41% ห่างเป้าหมาย 60% ถึงเปิดประเทศ กิจการอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะสูงอายุ ป้องกันป่วยหนัก-ดับ เผย มี 20 จังหวัดที่ฉีดถึง 60% ส่วน“ชนบท” ยังฉีดกระตุ้นได้น้อย อีโอซี สธ.เห็นชอบแผนเร่งรัดบูสเตอร์โดส คาด ต้องฉีดอีกร่วม 30 ล้านโดส ย้ำจังหวัดทำแผนระดับรายอำเภอ เอาวัคซีนไปหา ปชช.ถึงระดับ รพ.สต. ขอให้ฉีดวัคซีนทุกวัน อย่าลดวันฉีด แจงจำนวนจัดซื้อวัคซีนยังน้อยกว่าการฉีดเข็ม 3 ในคนไทย 70 ล้านคน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิดขณะนี้อยู่ที่ 20-30 รายต่อวัน เป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค โดยวันนี้เสียชีวิต 27 ราย เป็นกลุ่ม 608 ถึง 26 ราย หรือ 96% ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 59% และไม่ได้รับเข็มสามอีก 30% เราพยายามทำให้กลุ่มนี้เสียชีวิตน้อยสุด โดยระดมฉีดวัคซีนและมาตรการอื่นที่จำเป็น ดังนั้น ศูนย์อีโอซี สธ.จึงเห็นชอบแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะลดอาการป่วยหนักและรุนแรงได้ เพราะถ้าฉีด 2 เข็มจะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 6-8% แต่เข็ม 3 ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต 93% เข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อ 76% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต 96% จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งรัดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะช่วงต่อไปที่จะเปิดประเทศและเปิดกิจกรรมให้ทำมากขึ้น โดยคำแนะนำของไทย คือ คนอายุ 12 ปีขึ้นไปสามารถรับเข็มกระตุ้น ไม่ว่าเข็ม 3 หรือ 4 ได้ตามที่กำหนดคือ ฉีดเข็ม 2 เกิน 3 เดือนขึ้นไปรับเข็ม 3 กลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็ม 3 แล้ว 3 เดือนให้รับเข็ม 4 และคนทั่วไปรับเข็ม 3 แล้ว 4 เดือนให้รับเข็ม 4
ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดเข็มหนึ่งอยู่ที่ 56.7 ล้านคน คิดเป็น 81.7% เข็มสอง 52.7 ล้านคน คิดเป็น 75.9% และเข็มสามขึ้นไป 28.5 ล้านคน คิดเป็น 41.1% ซึ่งเป้าหมายเพื่อเปิดกิจการปลอดภัยยิ่งขึ้น เข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ขึ้นไปต้อง 60% จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีน ซึ่งยังขาดอีกประมาณ 15-20 ล้านโดสที่ต้องเร่งฉีดในระยะนี้ ทั้งนี้ มี 20 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นถึง 60% แล้ว ได้แก่ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ กทม. พระนครศรีอยุธยา น่าน สระบุรี ลำพูน ระยอง นครนายก ฉะเชิงเทรา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ยโสธร สมุทรสงคราม ชลบุรี ลพบุรี มหาสารคาม และนครปฐม ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดแถบพื้นที่ภาคกลาง
นพ.โอภาส กล่าวว่า การจัดหาวัคซีน กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการผ่านคณะกรรมการหลายคณะ และ ศบค. โดยปี 2564 มีแผนจัดซื้อ 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส ปี 2565 มีแผนจัดซื้อ 120 ล้านโดส ลงนามสัญญาซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส และฉีดแล้ว 34 ล้านโดส หลายคนอยากทราบว่า ต้องฉีดทุกปีหรือไม่แบบไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่มีแผนเตรียมไว้แล้ว โดยวัคซีนปี 65 เข้ามาแล้ว 36 ล้านโดส จากแผน 120 ล้านโดส ส่วนที่เหลือก็สำรองไว้ปีหน้า หากต้องฉีดเข็มกระตุ้นทุกปีต่อไป ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ ถ้าเทียบคนไทย 70 ล้านคน ฉีดคนละ 2 เข็ม คือ 140 ล้านโดส ขณะนี้เราฉีดได้ 138 ล้านโดส ถ้าต้องฉีด 3 เข็ม คือ 210 ล้านโดส ตอนนี้ปริมาณวัคซีนที่จัดซื้อทั้งหมดมี 138 ล้านโดส ก็ยังห่างอยู่ แต่เรามีสัญญาการส่งมอบในมือ หากมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องหาวัคซีนเพิ่มเติม เราก็มีแหล่งที่หามาเพิ่มเติม และเรามีแผนจัดหาวัคซีนให้เหมาะสมและสอดคล้องคนไทย
“หลายคนยังไม่แน่ใจเรื่องเข็มกระตุ้น ย้ำว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นทุกชนิดทุกสูตรที่มี ซึ่ง สธ.วิเคราะห์ข้อมูลและเสนอหลายครั้งว่า ทุกชนิดมีประสิทธิภาพดี แต่อันไหนดีกว่าก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะไม่มีชนิดใดป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ลดความรุนแรงป้องกันการเสียชีวิตได้ดี” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือตอนนี้ประชาชนเริ่มไม่ค่อยอยากรับวัคซีน จากการสำรวจศึกษาพบหลายเหตุผล คือ 1. กลัวผลข้างเคียง ไม่มั่นใจ ย้ำว่าผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น จึงไม่ต้องกังวล มีประโยชน์ต่อการป้องกันติดเชื้อและอาการรุนแรง 2. คิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอ ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะปลอดภัยกับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 2 เข็มไม่พอ 3. สายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง ไม่ต้องรับวัคซีน พูดได้ไม่ชัดนัก คือ ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมและเดลตา แต่ทำให้กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตได้เช่นกัน 4. กังวลผลระยะยาวของวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่มีใครบอกได้ แต่คิดว่าคงไม่มีผลมากนัก และคนฉีดไปมากแล้ว หากกังวลก็มีวัคซีนอื่นให้เลือกฉีด และ 5. ผู้สูงอายุมารับวัคซีนลำบาก ก็พยายามกระจายไปถึงใกล้บ้านมากที่สุด ทั้งระดับ รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป หรือศูนย์อื่นๆ จะมีวัคซีนฉีดเพียงพอให้
“กลยุทธ์ให้ประชาชนรับวัคซีนมากขึ้น เน้นย้ำแต่ละจังหวัดให้จัดทำแผนตัวเอง ดูว่าเข็มกระตุ้นขาดเท่าไร จำเป็นต้องฉีดเท่าไร วิเคราะห์เป็นรายอำเภอ เนื่องจากวิเคราะห์จากส่วนกลางพบว่า ส่วนใหญ่ที่ฉีดวัคซีนครบอยู่ในอำเภอเมือง ส่วนอำเภอห่างไกลหรือชนบทยังขาดการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ไม่ถึง 10% ซึ่งหลายจังหวัดเริ่มรณรงค์แล้ว หวังว่า จะร่วมแรงร่วมใจกันจะได้เปิดกิจการต่างๆ ได้มั่นใจและปลอดภัย” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้จะฉีดเข็มหนึ่ง 81% แต่ผู้สูงอายุร่วม 2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-11 ปี อีก 2 ล้านคน ยังไม่ได้เข็มหนึ่ง จึงยังต้องเร่งฉีดอยู่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และตามด้วยเข็ม 2 ส่วนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็นในการเปิดกิจกรรมต่างๆ ต้องได้อย่างน้อย 60% ดังนั้น เราต้องเพิ่มเข็มหนึ่งอีกอย่างน้อย 9-10 ล้านโดส เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ต่อด้วยเข็มสอง และเข็มสามอีกร่วม 15 ล้านโดส ถ้าเราตั้งเป้าดำเนินการก็ต้องฉีดไม่น้อยอีกกว่า 30 ล้านโดส ซึ่งทุกวันนี้เราฉีดวันละ 1-2 แสนโดส โดยวันหยุดอย่างเมื่อวานฉีด 3.1 หมื่นโดส ทั้งที่ช่วงก่อนหน้านี้อย่างวันที่ 24 ก.ย. 2564 วันเดียวฉีดได้ถึง 1.4 ล้านโดส 1 เดือนฉีดร่วม 20 กว่าล้านโดส
นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการติดตามตั้งแต่ ม.ค. 2565 ทุกคนที่ถึงเวลาควรได้เข็ม 3 มีการรับแค่ 50% จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องให้คนถึงเวลาได้เข็มกระตุ้นต้องได้รับวัคซีน เพื่อรองรับกิจการต่างๆ เพื่อใช้ชีวิตประกอบการงานต่างๆ ทั้งนี้ บางจังหวัดฉีดเข็ม 3 ไปร่วมกว่า 70% แล้ว บางจังหวัดยังไม่ถึง 20% ก็ยังมีความแตกต่างอยู่ สรุปภาพรวมยังมีช่องว่างอยู่เยอะที่ต้องฉีดวัคซีน กลยุทธ์ที่หารือกันในการฉีดเข็ม 3 คือ การเอาวัคซีนไปหาประชาชน เพราะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับ บางคนกลัววัคซีนก็ต้องทำความเข้าใจ อีกส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงวัคซีนหรือไปมาไม่สะดวก จากเดิมวัคซีนเราฉีดที่ศูนย์กลาง รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์/ทั่วไป ก็มีนโยบายไปฉีดถึง รพ.สต. และเดิมเรามีทีม CCRT ไปฉีด
“ถ้าเราสามารถทำให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และเข้าถึงวัคซีนดีขึ้น ก็ต้องมีตัวซัพพลายวัคซีนไปถึง รพ.สต.ที่ดำเนินการ ก็จะมีแผนจังหวัดที่ไหนมีความต้องการ คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนในพื้นที่เท่าไร ก็จะกระจายส่งวัคซีนไปที่จังหวัด และจังหวัดส่งให้ รพ.สต. และขอความร่วมมือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และ ผอ.รพ. ขอให้ฉีดวัคซีนทุกวัน เพราะช่วงหลังเมื่อคนฉีดวัคซีนน้อยลง บางที่ก็ลดวันฉีด ซึ่งโดยนโยบายอยากให้ฉีดวัคซีนทุกวัน และประชาสัมพันธ์ให้มารับวัคซีน เข้าถึงตรงนี้ได้ ต้องทำความเข้าใจกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ยังลังเลหรือกลัววัคซีน” นพ.สุเทพ กล่าว
เมื่อถามถึงการฉีดเข็ม 5 นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนเข็ม 3 ขึ้นไปเรียกว่าเข็มกระตุ้น ซึ่งเข็ม 5 ยังไม่มีคำแนะนำทางการ เพราะข้อมูลยังมีไม่พอ ประชาชนหลายคนฉีดเข็ม 5 แล้ว กลุ่มไหนควรฉีดบ้าง ขึ้นกับความจำเป็นแต่ละบุคคล เช่น บางคนไปบางประเทศบังคับฉีดวัคซีนบางชนิด เช่น จีน กำหนดซิโนแวค ซิโนฟาร์ม, ญี่ปุ่น ต้องฉีด 3 เข็ม กระตุ้นด้วย mRNA หรือแพ้วัคซีนขอฉีดอีกตัวก็ฉีดให้ หรือฉีด 4 เข็ม ตรวจภูมิไม่ค่อยขึ้น มีโรคประจำตัวบางอย่างเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น ก็พิจารณาฉีดเข็ม 5 ได้ ใช้เหตุผลแต่ละบุคคล และดุลยพินิจแพทย์ ไม่มีคำแนะนำวงกว้าง แต่ตอนนี้ฉีดเข็ม 3 ยังมีคนจำนวนมากยังไม่ฉีด ขอให้คนยังไม่ฉีดให้รีบไปฉีด จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ชุมชน และครอบครัว ประเทศไทยผ่านพ้นโควิดได้อย่างดี