ในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete aged society) โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-aged society) คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างต้นแบบให้ตอบรับกับโจทย์ “สังคมสูงอายุไทย”
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพบว่าสถานบริบาลผู้ป่วยสูงอายุไทยที่มีภาวะพึ่งพา (Nursing homes) ทั้งในภาครัฐและเอกชนนั้น ยังมีปัญหาในด้านการวางแผนจัดการหรือออกแบบการดูแลในผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มที่มีโรคมาก เปราะบาง และ/หรือสมองเสื่อม
โดยทั่วไป สถานบริบาลผู้ป่วยสูงอายุมักมุ่งเน้นให้การดูแลในด้านสุขอนามัย และด้านการทำกิจวัตรประจำวัน (Basic activities of daily living) เช่น อาบน้ำ ขับถ่าย รับประทานอาหาร การเคลื่อนไหวเป็นหลัก แต่ยังมิได้มีการวางแผนหรือออกแบบการดูแลที่มุ่งเน้นในด้านการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ภาวะพึ่งพา หรือภาวะติดเตียง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุไทยกลุ่มที่มีโรคซับซ้อน ยังมิได้มีการวางแผนการดูแลรักษาเฉพาะด้าน โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric medicine) และการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care and hospice) ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยสูงอายุไทยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่มีปัญหาในด้านอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โรคมะเร็งมีอาการเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย และ/หรือใกล้เสียชีวิต
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับภาคเอกชน มุ่งสร้างต้นแบบของสถานบริบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพา โดยพัฒนาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างสถานบริบาลผู้สูงอายุรามาธิบดี (Ramathibodi Nursing Home) โดย มุ่งดำเนินการเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการบริบาลที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ในทุกสถานะสุขภาพ (Health status) ของผู้ป่วยสูงอายุไทย
ซึ่งจะให้การบริบาลที่ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มที่มีโรคน้อยและช่วยเหลือตนเองได้ดี (Active aging and independence) กลุ่มที่มีโรคมากเปราะบางและมีภาวะพึ่งพา (Frail and partial dependence) กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยและมีภาวะติดเตียง (Immobility and total dependence) ไปจนถึงกลุ่มที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้าย และ/หรือใกล้เสียชีวิต (End of life and hospice)
ทั้งนี้ มุ่งเป้าเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุไทยให้ได้ตระหนักรู้ มีส่วนร่วมในการวางแผน และกำหนดเป้าหมายสำคัญในชีวิตของตนเองไว้ล่วงหน้า ให้มีหลักประกันที่มั่นคงในการบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรและที่พักพิง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Best possible quality of life) ในยามบั้นปลายของชีวิต