"อนุทิน" ชี้โควิดขาลง เตรียมพร้อม 4 ด้านลุยโรคประจำถิ่น ปรับระบบ รพ.สู่ภาวะปกติ ทุกคนทุกโรครักษาได้ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ เว้นผ่าตัด ป่วยฉุกเฉิน การรักษาที่มีการฟุ้งกระจาย รอประเมินหลังเปิดผับบาร์ 2-3 สัปดาห์ ก่อนชงปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคเฝ้าระวัง แล้วเสนอ ศบค.พิจารณา ส่วนประกาศโรคประจำถิ่นต้องรอ WHO แต่ไทยเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการได้เลย คนกังวลติดเชื้อขอฉีดเข็ม 5 ฉีดได้
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ครั้งที่ 6/2565 ว่า วันนี้ที่ประชุมมีวาระเรื่องเตรียมความพร้อมโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 ในไทยดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน ฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกือบ 140 ล้านโดส ให้บริการเข็มกระตุ้นต่อเนื่องจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ ว่าบริหารจัดการโรคได้ดี เผชิญปัญหาและปรับตัวตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากประชาชนให้ความร่วมมือ ทำตามคำแนะนำป้องกันโรค ปรับวิถีชีวิตแบบ new normal เข้ารับวัคซีนโควิดจำนวนมาก ช่วยให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด
"ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน ขอให้มารับ ซึ่ง สธ.พร้อมจัดบริการเต็มที่ คนรับแล้วให้มารับเข็มบูสเตอร์โดส ซึ่งอาจเป็นเข็ม 3 เข็ม 4 หรือเข็ม 5 ตามความจำเป็นของแต่ละคนเรื่องความเสี่ยง โดยปัจจุบันกรมควบคุมโรคสรุปว่า กลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดเข็ม 3 แล้ว 3 เดือนมารับเข็ม 4 ได้ นอกกลุ่มเสี่ยง 608 รับเข็ม 3 แล้ว 4 เดือนมารับได้เช่นกัน หากจำเป็นเดินทางต่างประเทศ มีความสุ่มเสี่ยงกังวลติดเชื้อหรือไม่ ก็มารับบูสเตอร์เข็ม 5 ได้ ซึ่งไม่ได้มีผลเสียผลข้างเคียงต่อสุขภาพ" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า สธ.จะเสนอผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อคืนความสุขเป็นปกติแก่ประชาชน รองรับการไปสู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย ใช้นโยบาย Health for Wealth สุขภาพสร้างความเข้มแข็งประเทศ มีเป้าหมายคืนระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ประชาชนทุกคนผู้ป่วยทุกโรคใช้บริการตามปกติ เนื่องจากโควิดลดความรุนแรงลงมาก ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง จนทำให้ระบบการรักษาต้องสะดุดหรือติดขัด อย่างวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ศบค.อนุมัติพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวและพื้นที่เฝ้าระวังเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือสถานบริการอื่นที่คล้ายกัน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ Thai Stop COVID 2+ เปิดบริการไม่เกินเที่ยงคืน หากเปิดเกินจะผิดกฎหมายทันที
ทั้งนี้ จะเตรียมความพร้อมรองรับโรคประจำถิ่น 4 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากกว่า 60% เฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส 2.มาตรการด้านการแพทย์ ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก เน้นผู้ป่วยโควิดที่เสี่ยงอาการรุนแรงและอาการรุนแรง ผู้ป่วย Long COVID ปรับการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่มีอาการโควิดหรือสัมผัสเสี่ยงสูง เข้ารักษาแบบผู้ป่วยและผู้ป่วยในไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด ผู้เฝ้าไข้ไม่ต้องตรวจ ATK ทำให้ญาติเยี่ยมได้สะดวกขึ้น จะตรวจ ATK หรือ RT-PCR กรณีผ่าตัดหรือตรวจรักษาที่อาจมีการแพร่กระจายโควิดในอากาศ และผู้ป่วยฉุกเฉินตามความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์
"จากนี้การบริการของ รพ.จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ พร้อมการป้องกันการติดเชื้อของโรคระบบทางเดินหายใจที่ดีขึ้น ย้ำว่าหากเกิดการระบาดเรื่องโรคระบบทางเดินหายใจ สธ.พร้อมมีบุคลากร เวชภัณฑ์ ทรัพยากรเตียง และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อทุกชนิดอย่างเพียงพอ และคงเครือข่ายระบบบริการสุขภาพพร้อมรับมือทุกสถานการณ์" นายอนุทินกล่าว
3.มาตรการด้านกฎหมาย สังคมและองค์กร ระยะต่อไปที่โควิด 19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เสนอให้ปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จะกำหนดแนวทางการควบคุมป้องกันโรคคล้ายกับโรคติดต่อทั่วไป ทั้งนี้ ยังต้องเสนอที่ประชุม ศบค. เพราะยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ทางปฏิบัติขอให้เกิดมั่นใจว่า สธ.มุ่งเน้นความปลอดภัยด้านสุขภาพประชาชน ให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอเหมาะสม ใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้ ห่างไกลจากการติดต่อของโควิด ส่วนเชิงนโยบายจะประกาศอย่างไร ประกาศโรคประจำถิ่นหรือไม่ยังมีอีกหลายขั้นตอน และต้องนำเสนอให้ได้รับความเห็นชอบที่ประชุม ศบค.
และ 4.มาตรการด้านการสื่อสาร ทุกภาคส่วนร่วมการสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ใช้ชีวิตแบบใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยงตามควรแก่เหตุและสถานการณ์ของแต่ละคน มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะลดความเสี่ยงการติดโควิดได้ เข็ม 4 ช่วยป้องกันติดเชื้อ 76% ป้องกันป่วยหนักใส่ท่อหายใจและเสียชีวิต 99% ถ้ามีผู้สูงอายุที่บ้านและปฏิเสธรับวัคซีนขอให้ช่วยชี้แจงว่า วัคซีนทำให้ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องเจ็บป่วยหนักหรือเสียชีวิต มารับตามสถานบริการได้ วัคซีนมีมากเพียงพอ ไม่มีขาดแคลนแน่นอน
"เมื่อโควิดเริ่มคลายความรุนแรงลง เกิดจากความร่วมมือประชาชน ตัวเชื้อยังเป็นเชื้อ ถ้าอยู่อย่างเข้าใจ และป้องกันตนเองเต็มที่แล้ว จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มาพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง สธ.ขอให้ความมั่นใจและคำยืนยันในระบบความพร้อมด้านสาธารณสุขไทย ขอบคุณในความร่วมมือ ทำให้เรามีขวัญกำลังใจทำงานดูแลความปลอดภัยสุขภาพประชาชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย" นายอนุทินกล่าว
ถามว่าที่ประชุมมีการพิจารณาลดการเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 2 หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.กล่าวว่า ยังต้องใช้เวลาพิจารณา
ถามถึงขั้นตอนการลดระดับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขั้นตอนต้องผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ส่วนจะดำเนินการเมื่อไรจะดูสถานการณ์ตามความเหมาะสม
ถามว่ากระบวนการเฝ้าระวังโรคหากเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังจะแตกต่างจากโรคติดต่ออันตรายอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้อย่าเพิ่งให้ความสำคัญว่า จะประกาศโรคประจำถิ่นเมื่อไร เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากมาย โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ต้องดูองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเห็นอย่างไร เพราะตอนประกาศให้โควิดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงระดับโลก WHO เป็นผู้ประกาศ และช่วงระบาดรุนแรง 2 ปีกว่าๆ รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดตั้ง ศบค. โดยกฎหมายต่างๆ ที่ใช้ในเรื่องการสาธารณสุขไปขึ้นกับ ศบค.ภายใต้อำนาจนายกฯ ตรงนี้ สธ.ต้องรับฟังนโยบายนายกฯ แต่ในทางปฏิบัติ การดูแลรักษาประชาชน จัดสรรจัดหาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ วัคซีน สธ.ดำเนินการโดยเป็นการปฏิบัติตามภารกิจประจำวันปกติ จะไม่มีผลเสียหายในการให้บริการประชาชน
"ส่วนการประกาศอย่างไร มีมาตรการอย่างไร สธ.จะเป็นผู้ร่วมเสนอ เพราะมีหน่วยงานอื่นใน ศบค. เป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาโดยตลอด และไม่มีปัญหาใดๆ ในการดำเนินการ และไม่มีผลกระทบใดๆ ให้ประชาชนสูญเสียความปลอดภัยหรือประโยชน์จากการมีสถานการณ์เช่นนี้ ขออย่ามุ่งเน้นเรื่องนี้มาก ทุกวันนี้การปฏิบัติมาตรการประจำวัน เหมือนเราผ่อนคลายมาตรการหลายอย่างจนแทบเป็นปกติแล้ว ยิ่งวันนี้ที่ปิดผับบาร์คาราโอเกะมาเป็นปี ทำให้มีความเสียหายจำนวนมากกับกิจการและการจ้างงาน เราก็เปิดแล้ว เท่ากับเราเดินเข้าไปในโหมดของโรคที่ไม่ใช่ติดต่อร้ายแรง จนต้องล็อกดาวน์คุมเข้ม ก็ไปตามนี้ ถ้าอยู่กับเขาด้วยความเข้าใจและระมัดระวัง กฎหมายจะเป็นเรื่องรองทันที" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ถ้า WHO สำรวจทั่วโลกแล้วประกาศมา ซึ่งรัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการผ่อนคลายไปมากแล้วไม่เกิดความสูญเสียมากขึ้นเป็นนัยสำคัญจนก่ออันตรายต่อประชาชน ก็คิดว่าขั้นตอนต่อไป ถ้าสถานการณ์ปกติแล้ว นายกฯ ก็จะคืนภารกิจหน้าที่ไปตามหน่วยงานต่างๆ จะเกิดการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศให้โรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง เป็นโรคที่เฝ้าระวัง และเมื่อวัคซีนถ้วนหน้าครบถ้วน จะเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป การดูแลรักษาก็จะเป็นไปตามสิทธิ ซึ่งในช่วงโรคระบาดรุนแรงมีผลกระทบมากรัฐบาลดูแลให้การรักษา ฉีดวัคซีนทุกคน แต่เมื่อเป็นโรคปกติ ความรุนแรงลดลง ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเต็มที่ ก็ต้องใช้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ ส่วนยาและวัคซีนอาจเน้นในกลุ่มเสี่ยง เหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็ฉีดประมาณไม่เกิน 8 ล้านโดสต่อปีในกลุ่มเสี่ยง สถานการณ์ก็จะโน้มนำไปทางนั้น
ถามว่าการประกาศเป็นโรคเฝ้าระวังต้องรอ WHO หรือไหม หรือเราประกาศได้ นายอนุทินกล่าวว่า สำคัญที่สุดรอ ศบค. เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นใคร อะไรที่ทำแล้วเกิดความมั่นใจกับประชาชนมากที่สุด สธ.สามารถทำให้ ศบค.มั่นใจว่า จากนี้ไป ถ้าเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เข้าโหมดปกติ สธ.มีความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ ก็จะนำเสนอ ศบค.รับทราบพิจารณาต่อไป ส่วนจะเมื่อไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งเราเปิดผ่อนคลายมากขึ้น ผับบาร์เปิดวันนี้ ไม่น่าจะเสียหายอะไรถ้าจะขอศึกษาติดตามสถานการณ์จากการเปิดผับบาร์อีก 2-3 สัปดาห์ ดูว่ามีผลอย่างไร แต่มั่นใจว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การติดเชื้อเป็นเรื่องปกติ คนติดเชื้อไม่มีอาการหนัก กลุ่มเสี่ยงป่วยอยู่ในกลุ่มเดิม ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ยังดำรงชีวิตปกติได้ ไม่มีอาการหนัก ตอนนั้นก็จะมานำเสนออีกครั้ง
ถามว่าโรคอะไรที่เป็นโรคเฝ้าระวัง และมีระบบบริหารจัดการอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคติดต่อที่เฝ้าระวังมี 10 กว่าโรค เช่น ไข้เลือดออก มีการระบาดตามฤดูกาลก็มีการจัดระบบเฝ้าระวัง ซึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังตามหลักการ คือ 1.มีการเฝ้าระวัง 2.การป้องกัน 3.การควบคุม และ 4.การพัฒนาระบบต่างๆ ก็จะใช้หลักการเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อมีการพบโรคขึ้นมาก็จะวิเคราะห์ว่าปกติหรอผิดปกติ ต้องทำอะไรเพิ่มเติม กลุ่มเสี่ยงคืออะไร ต้องไปควบคุมอย่างไร หากระบาดเยอะก็จะมีทีมออกไปสอบสวนควบคุมโรค หรือทางผู้ว่าฯ อาจจะประกาศออกมา เช่น ประกาศเป็นโรคระบาด เป็นสาธารณภัย ก้จะมีหน้าที่เข้าไปจัดการ โรคระบาดจะเป็นเฉพาะพื้นที่ เฉพาะโรค ระบบพื้นฐานคือเรื่องการเฝ้าระวัง ถ้าไม่มีข้อมูลเฝ้าระวังก็จะไม่รู้ว่าระบาดที่ไหน ส่วนการเปิดผับบาร์ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าไรต้องรอการติดตามก่อน