"อนุทิน" ประชุม กก.จัดการโควิดเป็นโรคประจำถิ่นนัดแรก คาดปลาย พ.ค.อาจลดเตือนภัยเหลือระดับ 2 ส่วนชง ศบค.วันที่ 20 พ.ค.นี้ เน้นผ่อนคลายมากขึ้น แบบ Step by Step ส่วนการเปิดผับบาร์ต้องเสนอ ศบค. บนเงื่อนไขประชาชนร่วมมืออย่างดี ส่วนการรักษาเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นให้เป็นไปตามปกติ
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ครั้งที่ 1/2565 ว่า ขณะนี้แนวโน้มโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเริ่มลดลง ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอ สามารถเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปได้ จึงต้องเตรียมปรับรูปแบบการบริหารจัดการและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตในวิถีปกติใหม่และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบรัดกุมและบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การประชุมวันนี้จึงเป็นครั้งแรกร่วมกับกระทรวงต่างๆ เช่น มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การท่องเที่ยวฯ สมาคม รพ.เอกชน สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าฯ เป็นต้น บรรยากาศเป็นไปด้วยความราบรื่น ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนเต็มที่ โดยทุกฝ่ายจะไปเตรียมความพร้อม เช่น ภาคอุตสาหกรรมบอกขอเข็ม 4 เลยได้หรือไม่ กลุ่มเสี่ยงของเข็ม 5 เลยได้หรือไม่ ซึ่ง สธ.ยืนยันมาตรการ 3 พอ หมอพอ เตียงพอ ยาวัคซีนพอ ก็พร้อมเสริมภุมิคุ้มกัน ก็ขอให้กระทรวง หน่วยงานเอกชนต่างๆ ทำความเข้าใจอย่าให้ใครกลัววัคซีนแล้วไม่ฉีด
"ที่เราผ่านมาด้วยดี เพราะวัคซีนก็ทำงานของเขาเต็มความสามารถ ดูจากวันนี้ 59 รยที่เสียชีวิต 100% เป็นกลุ่ม 608 และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ชัดเจนว่าสามารถป้องกันได้ ตอนนี้ยังมีเวลาจะสร้างเสริมความปลอดภัย ซึ่งกลุ่ม 608 ที่คิดว่าอยู่บ้าน ไม่ไปไหน ไม่พบปะผู้คน พบแต่ลูกหลานแล้วคิดว่าไม่เสี่ยง จริงๆ พบลูกหลานก็คือความเสี่ยง เพราะลูกหลานออกไปทำงาน กลับมามีความเสี่ยงนำเชื้อมาติดได้ ถ้าเราดูแลกลุ่มสูงอายุได้ จะเห็นตัวเลขที่สูญเสียลดลงไป" นายอนุทินกล่าวและว่า คาดว่าช่วงปลาย พ.ค. – มิ.ย.นี้ สถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคลดลง (Declining) และจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงจะประกาศลดระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 2
เมื่อถามว่ามีการหารือกับ รพ.เอกชน เรื่องระบบรักษาหลังเข้าโรคประจำถิ่นหรือนยัง นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างดำเนินการไปอยู่แล้ว โรคประจำถิ่นเท่าที่ถามผู้บริหาร สธ. ไม่ใช่ว่าเราจะประกาศเองก็ประกาศ แต่ต้องสอดคล้องกับสากลด้วย องค์การอนามัยโลกด้วย เพระาประกาศโรคระยาดร้ายแรง องค์การอนามยโลกเป็นผู้ประกาศไม่ใช่ประเทศไทยประกาศเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติเราก็พยายามเดินไปสู่โรคประจำถิ่น แต่ตอนนี้เรายังให้เป้นโรคติดต่อร้ายแรงอยู่ จะได้ใช้มาตรการต่างๆ ดูแลประชาชนได้ แต่เมื่อทุกอย่างมีความพร้อม ความเข้าใจของประชานมีแล้ว จะแปรสภาพไปเป็นโรคประจำถิ่น คือ จะดูการติดเชื้อและเสียชีวิตแต่ละวันเป็นอย่างไร รับวัคซีนเพียงพอหรือไม่ ก็จะเหมือนไข้หวัดใหญ่ก็มาใช้ตามสิทธิการรักษา ใครอยากรักษาเองก็ขอให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ต่างๆ มาขึ้นทะเบียนจากในภาวะฉุกเฉินมาเป็นภาวะทั่วไป สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ก็ต้องเดินไปในแนวทางนั้น
"ภาคเอกชนก็ดีใจที่ยกเลิก Test&Go ทำให้โอกาสประกอบการคล่องตัวยิ่งขึ้น และเขาของให้ยกเลิก Thailand Pass ตรงนี้ต้องหารือ สธ.คือผู้ชงเข้าไปใน ศบค.และให้คณะกรรมการ ศบค.ที่มีนายกฯ เป็นประธานพิจารณา หาก สธ.ชงเรื่องแล้วแสดงความมั่นใจว่ามีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย นายกฯ ก็ให้การสนับสนุนตลอดเวลาอยู่แล้ว" นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่าจะชงเรื่องยกเลิก Thailand Pass ในการประชุม ศบค.วันที่ 20 พ.ค.นี้เลยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า Step by Step ไว้จะถามอธิบดีกรมควบคุมโรคอีกครั้ง ถามอีกว่าจะเสนออะไรเพิ่มเติมใน ศบค.อีกหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ก็ทุกอย่างให้เป็นไปตามในแนวทางที่ผ่อนคลายให้ประชาชนใช้ชีวิตเสริมสร้างรายได้ ยังชีพตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถามต่อว่าเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว UCEP Plus ที่ดูแลโควิดเหลืองแดงจะยังมีอยู่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็เป็นไปตามโรคประจำถิ่น แต่ก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะ 30 บาทรักษาทุกที่จะขยายการให้บริการไปเรื่อยๆ
ถามว่าจะมีการลดระดับเตือนภัยเป็นระดับ 2 หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ก็พยายาม เราลดมาระดับ 3 ได้ ก็พยายามดูสถานการณ์ต่างๆ ถ้าเราทำได้จะลดไประดับ 2 ก็จะมีมาตรการลดหลั่นลงไป ซึ่งจะสอดคล้องกันกับแนวทางที่จะเสนอ ศบค.
ถามต่อว่าประชุม ศบค.วันที่ 20 พ.ค.จะมีการเสนอผ่อนคลายผับบาร์ คาราโอเกะหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุม ปลัด สธ.ได้เสนอว่ามีมาตรการเดินทางไปสู่โรคประจำถิ่น ในการเปิดผับบาร์คาราโอเกะ อย่างไรก็ต้องถูกนำเสนอ แต่เรายังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมี ศบค.อยู่ ฉะนั้น มาตรการอะไรต่างๆ จะเริ่มจากสธ.และนำเสนอ ก็เป็นแบบสเต็ปเร็วถ้าทำได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนเช่นเคย ต้องทำให้ตัวเองห่างไกลการติดเชื้อ ตระหนักรู้ว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง เราต้องแยกตัวเองก่อน ใส่หน้ากาก ล้างมือตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ สธ.ต้องขอบคุณประชาชน แม้กระทั่งสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังร่วมมือปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ยิ่งได้รับความร่วมมือเช่นนี้มากเท่าไร เราก็จะสามารถที่จะผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ถือเป็นหน้าที่ภาระของ สธ.ที่จะต้องทำให้ประชาชนมีความสะดวกที่สุดในการดำเนินชีวิตในทุกบริบท