“การที่คนคนหนึ่งต้องสูญเสียอวัยวะใดไป มีผลกับทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังเช่นผู้ประกันตนที่บาดเจ็บจากการทำงาน จนสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพที่เข้ารับฟื้นฟู ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จึงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอาชีพ ซึ่งต้องดำเนินการฟื้นฟูควบคู่ไปด้วยกันในทุกมิติ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกันตนที่เข้ารับการฟื้นฟู สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยความเข้มแข็ง และกลับเข้าสู่การทำงานได้อย่างมั่นคง”
เมื่อกล่าวถึงศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า คือ สถานที่ที่เป็นที่พึ่งของผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ โดยนอกจากการบำบัดร่างกายและจิตใจแล้ว หนึ่งในภารกิจของศูนย์ฟื้นฟู คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพ และสร้างแรงบันดาลใจในด้านอาชีพให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟู ซึ่งเปรียบเสมือนปลายทางที่ส่งให้ผู้ประกันตนมีงานทำ สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างเป็นปกติสุข โดยการฝึกอาชีพจะมีทั้งอาชีพหลัก อาทิ งานคอมพิวเตอร์ งานทักษะวิชาชีพช่างประเภทต่าง ๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และยังมีอาชีพเสริม อาทิ ตัดเย็บเสื้อผ้า ดอกไม้ประดิษฐ์ งานกัดลายกระจก ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้เข้ารับการฟื้นฟูได้มีโอกาสเลือกสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพตามความถนัดอีกด้วย
นายสมศักดิ์ รวมทรัพย์ ผู้ช่วยครูฝึกงานพิมพ์ สาขากัดลายกระจก หนึ่งในผู้เข้ารับการฟื้นฟูที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานรับสิทธิกองทุนเงินทดแทน เข้ารับการฟื้นฟู ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานปทุมธานี และยังผันตนเองมาเป็นครูฝึก ทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงบันดาลใจทางด้านอาชีพงานกัดลายกระจกให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟู ได้ให้ข้อมูล ว่า ในอดีตราวปี 2540 ได้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนขาขาด แต่ในตอนนั้น ไม่ทราบข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคม จนช่วงหนึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่โดยขาดความสุขและกำลังใจ เพราะคิดว่าตนเองต้องกลายเป็นคนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เป็นภาระของครอบครัว แต่เมื่อได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคม และได้เข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ทำให้ได้มีโอกาสใส่ขาเทียม ได้รับการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจจนดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องกลายเป็นภาระของครอบครัว อีกทั้ง ยังได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกฝนทางด้านอาชีพ โดยฝึกอาชีพช่างยนต์ จนมีทักษะอาชีพ และสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ จากนั้น ได้เข้ามาสอบช่างฝีมือแรงงาน และได้เข้ารับการทำงานที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานปทุมธานี ในตำแหน่งผู้ช่วยครูฝึกสาขางานพิมพ์ โดยสอนงานกัดลายกระจก ซึ่งเป็นอาชีพเสริมให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟู ทำให้ผันตนเองจากการเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์มาเป็นครูฝึก และได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ และแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ารับการฟื้นฟู ซึ่งอาจมีหลายรายที่เกิดความรู้สึกท้อแท้ และไม่มั่นใจในสมรรถภาพทางร่างกายของตนเอง ภายหลังประสบเหตุ แต่ด้วยการที่ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์สูญเสียอวัยวะมาเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีความเข้าใจ และถ่ายทอดทักษะอาชีพ ได้อย่างเข้าถึงเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งสำคัญ คือ การเอาประสบการณ์ในชีวิตมาเป็นแรงผลักดันให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟู ทำให้มีอาชีพ และรู้ว่าถึงแม้จะสูญเสียอวัยวะไป แต่ศักยภาพและคุณค่าความเป็นคนยังคงอยู่เช่นเดิม
(ข่าวประชาสัมพันธ์)