xs
xsm
sm
md
lg

สสส. ผนึกเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและเครือข่าย สร้างเสริมสุขภาพในเขตเมือง หวังยกเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนเมืองน่าอยู่สู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. ผนึกเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและเครือข่าย สร้างเสริมสุขภาพในเขตเมือง หวังยกเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนเมืองน่าอยู่สู่ความยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย ยกระดับการทำงานกับชุมชนขนาดใหญ่ ขยายแนวคิด วิธีการ องค์ความรู้ สู่ อปท.ทั่วประเทศ

​นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเวทีจัดการความรู้และลงนามความร่วมมือสุขภาวะชุมชนเมืองน่าอยู่สู่ความยั่งยืน ซึ่งสสส. เข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของ อปท. เพื่อให้ท้องถิ่นเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในเขตของตนเอง ทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพสามารถดูแลการจัดการปัญหาของตนเองให้ได้ สำหรับโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อเมืองร้อยเอ็ดน่าอยู่สู่ความยั่งยืน จะก่อประโยชน์มหาศาลจากการดำเนินโครงการในระยะปี 1 ปี 6 เดือน คือ 1.ชุมชนจะมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะจัดการกันเอง ดูแลกันเอง จะร่วมมือกันป้องกันปัญหาและแก้ปัญหา 2. ชุมชนจะไม่ทอดทิ้งกัน คอยช่วยเหลือกันและกัน มีความเอื้ออาทร มีจิตอาสา 3.เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในชุมชน เช่น ผู้นำ คนต้นแบบ รู้รับปรับตัว สามารถเผชิญปัญหาได้ ขณะที่ อปท. จะมีชุมชนเข้ามาช่วย อปท.ทำงาน และอปท. จะเป็นของชุมชน หรือ ชุมชน คือ อปท.

​ 


ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สสส.โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ได้ทำงานกับชุมชนระดับตำบลมาโดยตลอด ครั้งนี้ได้ยกระดับทำงานกับชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างจากชุมชนท้องถิ่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการศึกษาพัฒนาต้นแบบในการทำงานร่วมกับชุมชนขนาดใหญ่ ส่วนการเลือกทำงานร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดนั้น เพราะชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของประชาชนมีสูง และที่สำคัญผู้นำมีใจ คือคนได้ ใจได้ ทำงานเป็น ที่ร้อยเอ็ดมีองค์ประกอบครบถ้วน

​“หลายคนอาจจะมองว่าชุมชนเมืองมีข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ มีความพร้อมเกือบทุกด้าน แต่จริงๆ แล้ว ชุมชนเมืองกลับมีจุดอ่อนเรื่องบริการสุขภาพค่อนข้างมาก เกิดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง จึงพบเห็นคนจนเมืองที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีครอบครัว ไม่มีคนดูแล ถ้าคนเหล่านี้อยู่ในชุมชนนอกเขตเมือง อาจจะมีกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือแกนนำชุมชนช่วยดูแลได้ แต่เมื่อมาเป็นคนจนเมือง คนเหล่านี้อาจจะตกสำรวจ ไม่รู้ว่าอยู่ในหน้าที่ของใคร เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำนี้จึงมีมากเมื่อเทียบกับชนบทหน้าที่ของ สสส. คือเมื่อเราได้พื้นที่ต้นแบบหรือพื้นที่นำร่อง สิ่งที่เราทำคือการสร้างตัวคูณ โดยขยายแนวคิด วิธีการ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับ ไปสู่ อปท. อื่นๆ ต่อไป” ดร.ประกาศิต กล่าว


​ นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ในฐานะหัวหน้าโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อเมืองร้อยเอ็ดน่าอยู่สู่ความยั่งยืน กล่าวว่า จากการที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ให้ดำเนินโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนฯ โดยมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดให้เป็นต้นแบบการจัดการสุขภาวะชุมชนเขตพื้นที่เมือง ด้วยการใช้ทุนและศักยภาพออกแบบระบบการจัดการพื้นที่ พัฒนานวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และพันธกิจของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึง “สุขภาวะทุกมิติ” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรเพื่อพัฒนาศักยภาพระบบการจัดการพื้นที่และสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้เป็นกลไกในการจัดการกับสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤตที่กระทบต่อชุมชนท้องถิ่น จึงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ, เทศบาลตำบลเสลภูมิ อ.เสลภูมิ และเทศบาลเมืองสรวง อ.เมืองสรวง เข้าร่วมเป็นเครือข่ายและได้จัดทำบันทึกความร่วมมือขึ้น

ด้านนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีมากกว่า 3,000 แห่ง นับเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาท้องถิ่น ที่ผ่านมา สสส. สำนัก 3 ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะชุมชน กับชุมชนฐานล่างเป็นหลัก ปีนี้เป็นปีแรกที่ สสส. ได้เริ่มหาต้นแบบการสร้างระบบการจัดการสุขภาวะของชุมชนเมือง โดยนำเอาศาสตร์พระราชามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ เป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการเมื่อทำงานกับชุมชนเมือง รวมถึงชุมชนฐานล่าง คือ เราอยากเห็นชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ ดูแล พัฒนา ชุมชนตนเองได้ โดยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์พระราชา ที่ว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา การมีข้อมูลทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การระเบิดจากข้างใน ก็จะทำให้เห็นความสำคัญของคนในชุมชน สามารถสร้างความเข้มแข็ง มีศักยภาพด้วยตัวเอง และสุดท้ายจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง นำไปสู่การจัดการชุมชนได้” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าว

(ข่าวประชาสัมพันธ์)


กำลังโหลดความคิดเห็น