xs
xsm
sm
md
lg

กทม.สูญกว่า 1.6 หมื่น ล.บาท เหตุไม่จัดเก็บ “ภาษียาสูบ” ฝากผู้ท้าชิงพ่อเมืองกำหนดนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ไม่ได้จัดเก็บภาษียาสูบท้องถิ่น 20 ปี ทำสูญรายได้รวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท หากจัดเก็บจะได้เฉลี่ยปีละ 720 ล้านบาท นำมาพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ แก้ปัญหาเรื่องต่างๆ นักวิชาการฝากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กำหนดเป็นนโยบาย หากได้ผู้ว่าฯ แล้วจะขอเข้าพบหารือ

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2542 กทม.ยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น หรือภาษียาสูบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลย ทั้งที่มี พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยมาตรา 25 (5) กำหนดให้ ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับยาสูบซึ่งเก็บจากการค้าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มได้ไม่เกินมวนละสิบสตางค์ ขณะที่ อบจ.ทั่วประเทศ ได้มีการจัดเก็บแล้วตั้งแต่ปี 2546 ในอัตราซองละ 1.86 บาท ทั้งนี้ การเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นตามสิทธิที่ กทม.พึงจะได้รับ จะทำให้ กทม. มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 720 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ปี 2543 - ปัจจุบัน กทม.ต้องขาดรายได้ส่วนนี้ไปถึงประมาณ 16,000 ล้านบาท

“การที่ กทม.ไม่จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ บริษัทบุหรี่ที่ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ และยังทำให้เกิดช่องว่างให้บริษัทบุหรี่จะนำสินค้ามาพักในพื้นที่ กทม. เพราะไม่ถูกเก็บภาษี ก่อนที่ร้านค้าใน กทม.จะกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียง เพื่อนำขายต่อไป ทำให้รัฐต้องสูญรายได้ และ อบจ.ทั่วประเทศ ก็จะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว


ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษียาสูบหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการเสนอร่างฯ แก้ไขระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ กทม.สามารถออกข้อบัญญัติให้จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นได้ ไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากฝากไปยังผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. กำหนดเป็นนโยบาย ว่า หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำเงินรายได้ส่วนที่พึงได้นี้ตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ แก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วม รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการบริการสาธารณสุข

“ผมจะส่งจดหมายพร้อมข้อเสนอแนะเรื่องนี้ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกท่าน และหลังจากทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ทางเครือข่ายควบคุมยาสูบจะขอเข้าพบกับผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่เพื่อหารือการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น