หมอเตือน "อึ-ฉี่-ขี้ไคล" มีเชื้อโรค ไม่ควรกินตามลัทธิประหลาด ย้ำเป็นของเสียไม่ควรกินจ่อ จิตแพทย์ชี้เข้าข่ายงมงาย ต้องสลายกลุ่มช่วยสลายความเชื่อ แนะนำเข้ามาบำบัดรักษา
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีลัทธิประหลาดให้กินปัสสาวะ อุจจาระ ขี้ไคล เพื่อรักษาโรค ว่า ขอตอบในหลักวิทยาศาสตร์ว่า ปกติในอุจจาระปัสสาวะของคนเราเป็นของเสียที่ถูกขับออกมา ซึ่งในอุจจาระมีเชื้อโรค แบคทีเรีย พยาธิ และเชื้อรา ส่วนปัสสาวะแม้จะผ่านการกรองจากร่างกาย แต่ก็ไม่สมควรดื่มอยู่ดี ปกติคนที่มีโรคหรือมีการติดเชื้อทางเดินทางอาหาร การรับประทานอุจจาระก็จะได้รับเชื้อโรคจากอุจจาระได้ สำหรับคนที่รับประทานทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ หรือหนองเข้าไปแล้วรู้ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรบริโภค
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ระบุสิ่งปฎิกูลในร่างกายไม่ว่าจะถูกขับออกมาทางไหนล้วนมีเชื้อโรค แต่ปัสสาวะ ตามหลักถ้าคนที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร ปัสสาวะนั้นไม่มีเชื้อโรค แต่ก็ไม่แนะนำให้มีการดื่มปัสสาวะอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ร่างกายขับสารของเสียที่เกินความจำเป็นของร่างกายออกมา ยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว ปัสสาวะอาจจะมีเชื้อโรค เช่น โรคทางเพศสัมพันธ์ หนองใน ในปัสสาวะก็อาจจะมีหนองออกมาด้วย ถ้าหากทิ้งปัสสาวะไว้ในอุณหภูมิห้อง ก็จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตในปัสสาวะ สำหรับแพทย์แผนไทย ก็ไม่ได้มีแนวทางในการดื่มปัสสาวะตัวเองเพื่อรักษาโรค
ส่วนการกินสิ่งปฏิกูลอื่นๆ เช่น อุจจาระ ขี้ไคล มีเชื้อโรคจำนวนมากปนอยู่แล้ว ไม่ควรนำมากิน การที่ลำไส้ใหญ่ได้รับเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อร่างกาย เช่น ท้องเสีย โรคติดต่อทางเดินอาหาร ขณะเดียวกัน บนผิวหนังร่างกายของคนเรามีเชื้อโรคอยู่แล้ว เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กลากเกลื้อน และยิ่งมีการบริโภคทางร่างกาย เท่ากับรับเชื้อโรคเหล่านี้เข้าไป ยิ่งไปกว่านั้น หากในช่องปากของเราเกิดมีแผล อาจจะทำให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นไปอีก
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเชื่อกินอุจจาระปัสสาวะนี้ เป็นความเชื่อที่ขาดหลักเหตุผล เข้าข่ายงมงาย สาเหตุเกิดจากคนมี 3 ภาวะที่เป็นสาเหตุ คือ 1.มีความทุกข์มาก 2.วัฒนธรรมความเชื่อเฉพาะถิ่น มีไสยศาสตร์มาเกี่ยวข้อง และ 3.อิทธิพลจากเพื่อนหรือคนรอบข้างเป็นแรงเสริม ถ้ามี 3 อย่างนี้จะถือว่าเป็นความเชื่อที่เป็นความงมงายที่รุนแรง ยิ่งมีการรวมกลุ่มกัน ยิ่งเป็นการเสริมความเชื่อซึ่งกันและกัน ให้เกิดการสนับสนุนความเชื่อซึ่งกันและกัน วิธีการสลายความเชื่อต้องมีการสลายกลุ่ม โดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแล
"ความเชื่อที่งมงายแบบนี้มีความหลงผิดเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจเป็นคนที่หลอกให้เชื่อ หรือคนที่ถูกหลอกก็มีความหลงผิด ดังนั้นเมื่อรัฐเข้ามาจัดการก็อาจนำคนเหล่านี้มาบังคับบำบัดรักษาได้ แต่หากไม่แล้วโดยปกติคนเหล่านี้ไม่ได้ก่อเรื่องเดือดร้อนรำคาญ ก็จะไม่ถูกจับหรือนำตัวเข้ามาบำบัดรักษา หากมองเรื่องนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันนี้ที่จะได้นำเข้าสู่กระบวนการรักษา" นพ.ยงยุทธกล่าว