สธ.เผยแนวโน้ม“โควิด” ไทยลดต่อเนื่อง 23 จังหวัดทรงตัว อีก 54 จังหวัดขาลง ประกาศลดระดับเตือนภัยเหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ แนะงดเข้าสถานบันเทิง สถานที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท คนหนาแน่น กลุ่ม 608 รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็มเลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม เลี่ยงโดยสารสาธารณะ งดเดินทางไปต่างประเทศ ย้ำช่วยกันฉีดเข็ม 3 ถึงเดินหน้าโรคประจำถิ่น ส่วนนำร่องเปิดผับบาร์อยู่ที่ ศบค.พิจารณา
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับทั่วโลก จากเดิมเราคาดการณ์ว่าช่วงหลังสงกรานต์จะติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จากความร่วมมืออย่างดีของประชาชนทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา ดังนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโควิด 19 เห็นชอบประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ โดยคำแนะนำการเตือนภัยระดับ 3 คือ การไปในสถานที่เสี่ยง ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด ส่วนการร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด และการเดินทางเข้า-ออกประเทศ หากเป็นคนทั่วไปสามารถดำเนินการได้ แต่ให้เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สุงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ 3 เข็ม ให้เลี่ยงร่วมกิจกรรมร่วมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และงดเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่เกี่ยวกับมาตรการบังคับ
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 95-96% เป็นกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จริงของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกัยทั้งหมด เป็นไปตามการคาดการณ์ของ สธ. หรือบางตัวก็แนวโน้มดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ขณะนี้มีจังหวัดที่เข้าสู่ระยะทรงตัว (Plateau) แล้ว 23 จังหวัด และสถานการณ์ดีขึ้นอยู่ในระยะขาลง (Declining) 54 จังหวัด แนวโน้มจากสถานการณ์ ก็เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) เข้าไปเต็มที
ทั้งนี้ 23 จังหวัดที่อยู่ในระยะทรงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่เหลืออีก 54 จังหวัดอยู่ระยะขาลง
นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โควิดไทยมีแนวโน้มพบป่วยลดลงตามลำดับ ขอให้ทุกจังหวัดจัดทำแผน ปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน โดยเดินหน้ามาตรการ 2U คือ Universal Prevention ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากาก ล้างมือเว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination โดยเน้นให้กลุ่ม 608 รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% และเน้นเรื่อง 3 พอ คือ เตียงสีเหลืองสีแดง, ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์ มีเพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐาน
“หลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อยากเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งย้ำว่า นอกจากสถานการณ์แล้ว ความร่วมมือของประชาชนและวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญมาก โดย สธ.มีวัคซีนทุกชนิดไปที่ รพ.สต.สามารถวอล์กอินไปฉีดได้ ส่วน กทม.ก็จัดหน่วยบริการประชาชน ทั้งแบบลงทะเบียนล่วงหน้าและวอล์กอิน ให้สอบถามหน่วยบริการก่อน ย้ำว่าหากฉีดครบ 2 เข็ม 3 เดือนให้มารับเข็ม 3 และ 3 เข็ม ครบ 4 เดือนให้มารับเข็ม 4 เพื่อช่วยกันเดินหน้าเข้าโรคประจำถิ่นต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในช่วง พ.ค. 2565 มีหมุดหมายเรื่องเปิดเรียน จึงต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษามีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 90% ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปีมีการฉีดครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 90% จึงต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้น โดยหากเป็นผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดสหรือเต็มโดส ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์เต็มโดส ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็น 54.5% และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็น 17.4% โดยสูตรฉีดเป็นไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ หรือ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติม 1.6 แสนคน
เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการสถานบันเทิงเรียกร้องให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องผับ บาร์ มีความเป็นไปได้อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า จะต้องมีการหารือในที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง แม้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นแต่ยังเปลี่ยนเร็ว ในช่วงวันหยุดพบว่า ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ใกล้เคียงปกติมาก แต่ยังให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด แต่อย่างที่เน้นย้ำคือ แต่ละจังหวัดที่จะเปิดขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปดูกลุ่ม 608 เพื่อให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เน้นย้ำว่า หากผู้ว่าฯ อยากดำเนินการมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ศบค.จะอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ถึงเป้าหมายมากกว่า 60% เพื่อผู้ที่จะพิจารณาอนุมัติให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มี 5 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นค่อนข้างดี เช่น นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑล