ศบค.เผยแนวโน้ม “โควิด” ลดลงต่อเนื่อง ติดเชื้อใหม่ 9.7 พันราย จาก ATK อีก 8.7 พันราย “ลำพูน-ลำปาง” รายงานเป็น 0 ราย ยอดดับ 54 ราย 98% เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่รับวัคซีน รับกลุ่มเด็ก 0-19 ปี ติดเชื้อ 14% เร่งฉีดวัคซีนก่อนเปิดเทอม ทั้งเด็กเล็กเด็กโต ยันไม่ต้องตรวจ ATK ก่อนไปเรียน ตรวจเฉพาะมีอาการ ส่วนเข้าประเทศราบรื่น 29 เม.ย. - 4 พ.ค. อนุมัติแล้ว 2 แสนคน
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า สถานการณ์โควิดประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก มีการติดเชื้อลดลง วันนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจ RT-PCR 9,790 ราย ลดต่ำกว่าหมื่นรายเป็นวันที่ 4 ส่วนการตรวจ ATK พบ 8,728 ราย การตรวจทั้ง 2 วิธีมีทิศทางลดลง กำลังรักษา 101,281 ราย โดยอยู่ใน รพ.สนาม รักษาที่บ้าน 70,054 ราย และอยู่ใน รพ. 31,227 ราย จำนวนนี้มีอาการหนักปอดอักเสบ 1,638 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 776 ราย ถือว่าน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราครองเตียงผู้ป่วยหนักเหลือ 20.1%
สำหรับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มี 54 ราย โดยพบว่า 98% เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่พบบ่อย คือ โรคไตวายเรื้อรัง 14 คน โรคอ้วน 7 คน หลอดเลือดสมอง 7 คน หลอดเลือดหัวใจ 5 คน และติดเตียง 4 คน ผู้เสียชีวิตมาจากอีสานมากที่สุด 19 คน โดยผู้เสียชีวิต 61% ไม่ได้รับวัควีนเลยหรือรับเข็มเดียว 30% รับเพียง 2 เข็ม
สำหรับการฉีดวีคซีนโควิด-19 วันที่ 4 พ.ค. ฉีดได้ 144,809 โดส สะสม 134,175,785 โดส เป็นเข็มแรก 56,343,422 ราย คิดเป็น 81% เข็มสอง 51,447,253 ราย คิดเป็น 74% และเข็มสามขึ้นไป 26,385,110 ราย คิดเป็น 37.9% หากดูเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มี 12.7 ล้านกว่าคน รับเข็มแรกไปแล้ว 84.2% รับเข็มสอง 80% รับเข็มสามขึ้นไป 41.7% จึงต้องรณรงค์ให้พาผู้สุงอายุไปรับวัคซีนเพิ่มขึ้น เป้าหมายอยู่ที่ 60% ขึ้นไปในเข็มกระตุ้น
ส่วนเด็กเล็กอายุ 5-11 ปีกว่า 5 ล้านคน จากข้อมูลกรมควบคุมโรควันที่ 1-21 เม.ย. 2565 จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 328,480 คน จำนวนนี้มีอายุ 0-19 ปี จำนวน 54,357 คน คิดเป็น 14% หากดูตามช่วงอายุพบว่า อายุ 0-6 ปีติดเชื้อ 6% อายุ 7-12 ปี ประมาณ 3% และอายุ 13-19 ปีอยู่ที่ 4% การรายงานติดเชื้อในเด็กมีต่อเนื่อง จึงควรมารับวัคซีน แม้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง แต่มีโอกาสเกิดอาการลองโควิดหรือภาวะอักเสบทั่วร่างมิสซีได้ ซึ่งเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรก 53.6% และเข็มสอง 14.2% การฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กครอบคลุมยังน้อยอยู่มาก ดังนั้น ต้องเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคก่อนเปิดเทอม พ.ค.นี้ ขอความร่วมมือสถานศึกษาเปิดแบบออนไซต์มากที่สุดภายใต้มาตรการ Thai Stop COVID
พญ.สุมนี กล่าวว่า โรงเรียนที่ให้นักเรียนตรวจ ATK ก่อนไปเรียน ไม่ได้เป็นข้อบังคับจากกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการประเมินอาการก่อนไปโรงเรียนว่ามีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ หากมีอาการทางเดินหายใจและสงสัยให้ตรวจ ATK ที่บ้าน ถ้าผลตรวจเป็นบวกให้รักษาที่บ้านหรือในระบบรักษาที่ รพ. ไม่ต้องไปโรงเรียน จึงไม่ต้องตรวจ ATK ก่อนไปโรงเรียนทุกสัปดาห์หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ที่ต้องเน้นย้ำคือต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดทั้งเด็กเล็กและเด็กโต โดยกลุ่มอายุ 12-17 ปี ควรไปรับเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด ส่วนเด็กเล็กไปรับให้ครบโดสโดยไว ที่ผ่านมา ฉีดอายุ 5-11 ปี ไปแล้วกว่า 2.7 ล้านโดส ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ
“สูตรที่ฉีดเด็กเล็ก 5-11 ปี มี 2 สูตร คือ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ห่างกัน 1 เดือน ส่วนสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ฝาส้ม ห่างกัน 2 เดือน ขอความร่วมมือผู้ปกครองพาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนให้ครบก่อนเปิดเทอม” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า หลังมีมาตรการผ่อนคลายการเข้าประเทศ มีการรายงานถึงจำนวนนักเดินทางเข้าระบบ Thailand Pass ช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 4 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียน 213,958 คน อนุมัติแล้ว 202,878 คน จะเห็นว่า ยอดการอนุมัติคิดเป็น 94.8% ถือว่ามีความสะดวกมากขึ้น การพิจารณาในระบบ Thailand Pass จะมี 2 เรื่อง คือ การดูใบรับรองวัคซีน และการเช็กกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งการตรวจสอบนั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) มีความร่วมมือกรมควบคุมโรคพัฒนาการตรวจใรับรองวัคซีนผ่าน AI พอมีการยื่นใบรับรองเป้นคิวอาร์โคดสามารถตรวจสอบได้เลย ว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน แบบเรียลไทม์ ทำให้เร็วมาก หากยื่นเป็นเอกสารใบรับรองจะพิจารณาโดยกองด่านกรมควบคุมโรคที่สนามบิน ใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในการอนุมัติ การยกเลิก Test&Go และผ่อนคลายมาตรการตรวจเฉพาะวัคซีนและประกัน ถือว่าราบรื่นดีไม่มีล่าช้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 10 จังหวัด ติดเชื้อโควิดสูงสุด ได้แก่ 1. กทม. 2,990 ราย 2. บุรีรัมย์ 321 ราย 3. ชลบุรี 296 ราย 4. สมุทรปราการ 274 ราย 5. ร้อยเอ็ด 267 ราย 6. สุรินทร์ 254 ราย 7. ศรีสะเกษ 252 ราย 8. ขอนแก่น 240 ราย 9. อุบลราชธานี 200 ราย และ 10. มหาสารคาม 195 ราย
ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อระดับ 100 ขึ้นไปมีอีก 13 จังหวัด ติดเชื้อต่ำกว่า 100 ราย มีจำนวน 52 จังหวัด จำนวนนี้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 ราย จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 9 ราย, สตูล 9 ราย, เชียงราย 6 ราย และชัยนาท 5 ราย ส่วนติดเชื้อรายงานเป็น 0 มี 2 จังหวัด คือ ลำพูน และ ลำปาง