xs
xsm
sm
md
lg

จับทิศระบบรักษาฟรี "โควิด" หลังเข้าโรคถิ่น UCEP Plus จะมีต่อหรือจบ งบปกติต้องครอบคลุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับทิศรักษา "โควิด" หลังเข้าสู่โรคประจำถิ่น สมาคม รพ.เอกชนจี้รัฐวางระบบรักษาฟรี ส่วน 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ต้องหารือทำงบประมาณเสนอหลังปรับเป็นโรคปกติ เพิ่มโควิดในเกณฑ์วินิจฉัยโรคร่วม เน้นป่วยสีเหลืองและแดงให้ได้รับการดูแล คาดอาจยังมี UCEP Plus ต่อไปอีกระยะ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์กรณีประเทศไทยเตรียมปรับโรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ต้องมีการติดตามอีกสักระยะ และพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่า ผู้ติดเชื้อที่ลดลงเป็นเพราะไม่ได้ตรวจหรือลดลงจริง ผู้เสียชีวิตที่ลดลงเป็นเพราะมีการแยกผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ออกจากผู้เสียชีวิตที่มีการติดโควิด 19 ร่วมด้วย หากตามเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 0.1% ขณะที่ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 8,000 รายต่อวัน ก็น่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 8 รายต่อวัน ขณะนี้ยังมีราว 50 รายต่อวัน

“เมื่อโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น รัฐต้องเตรียมพร้อมเรื่องระบบบริการ คือ การให้บริการรักษาฟรีในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน คือ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ว่าจะดำเนินการอย่างไร มีการดูแลให้สิทธิแบบไหน เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณา” นพ.เฉลิมกล่าว

นพ.เฉลิม กล่าวว่า ส่วนการผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศมากขึ้น จะส่งผลต่อ รพ.เอกชน 2 ส่วนคือ 1.กลุ่ม รพ.ที่มีลูกค้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จะมีการเดินทางเข้ามารักษามากขึ้น และ 2.กลุ่ม รพ.ที่ดูแลคนไทยเป็นหลัก จะมีการกลับเข้ามารักษาของผู้ป่วยโรคอื่นๆ มากขึ้น หลังจากที่มีการลังเลและชะลอไปเกือบ 2 ปี จากสถานการณ์โควิด จะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า ขณะนี้ค่ารักษาพยาบาลโควิดของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ จะมีส่วนของ Extra pay ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของงบประมาณของแต่ละกองทุน แต่เมื่อโควิดมีแนวโน้มขาลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละกองทุนจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละกองทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 จะเป็นอย่างไร ซึ่ง รพ.เอกชนก็มีความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมบัญชีกลาง จะต้องดำเนินการอย่างไร ดูแลและส่งต่ออย่างไร รัฐต้องรีบดำเนินการและคณะกรรมการแต่ละกองทุนต้องรีบพิจารณาและประกาศให้ชัดเจน เชื่อว่าเมื่อเป็นโรคประจำถิ่น ผู้ป่วยจะไม่เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว UCEP Plus จะยังมีอยู่ก็อาจจะยาก ส่วนงบประมาณที่เดิมจ่ายให้กรณี รพ.รักษาโควิด แบบ Plus เพิ่มเติมจากที่ไม่ได้อยู่ในงบปกติจะยังอยู่หรือไม่ รพ.จะต้องดำเนินการอย่างไร

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ถ้าสถานการณ์ของโควิดดีขึ้น อะไรที่เข้าสู่ภาวะปกติหรือเหมือนเป็นไข้หวัด นอนพัก 1-2 วันแล้วหาย ก็จะกลายเป็นวิถีปกติ แต่สิ่งที่จะต้องป้องกันคือคนที่ป่วยแล้วมีอาการรุนแรง ต้องมีการพิจารณาเรื่องการวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ที่จะอ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยโควิด จึงต้องคิดคำนวณและหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการ นี่คือหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ส่วนทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ 1.องค์ความรู้เกี่ยวกับโควิดเป็นอย่างไร มีโอกาสกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่วางใจ 2.ระดับนโยบายพิจารณาอย่างไร จะให้เป็นบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนรัฐหรือไม่ และ 3.กฎหมายและการกำกับติดตาม ซึ่งเป็นข้อจำกัด เพราะ 3 กองทุนถือกฎหมายคนละฉบับ ก็พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ระบบบริการเดินหน้า ฉะนั้นวันนี้ UCEP Plus ยังเป็นทิศทางที่น่าจะประคองไว้ เพราะเป็นการรักษาชีวิตคน ทุกระบบจะต้องให้ความเท่าเทียมกับปัจจัยพื้นฐาน

นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ในอนาคตหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวโน้มประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เบื้องต้นระบบประกันสังคมจะดูแลตามสิทธิเดิมใน รพ.คู่สัญญาหลักที่สามารถเข้าไปรับการรักษาได้ ส่วนเรื่องยาและอื่นๆ ให้ความมั่นใจและรับประกันว่า สามารถดูแลตรงส่วนนี้ได้แน่นอน ส่วนต่อไปจะดูแลเรื่องยารักษาโควิดเข้าไปในสิทธิหรือไม่ คณะกรรมการการแพทย์ได้หารือเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยจะดูแลผู้ประกันตน 10 กว่าล้านคนอย่างดีที่สุด

นายรชตะ อุ่นสุข นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า หลังจากเป็นโรคประจำถิ่นควรจะ back to basic แต่สิ่งที่ท้าทายระบบต้นทุน คือ เมื่อเกิดโรคใหม่ 1 โรค เดิมไม่เคยถูกพิจารณาอยู่ในงบประมาณ ก็ควรจะจัดให้มีโควิดอยู่ใน DRG เวอร์ชันถัดไป เพื่อจัดสรรงบประมาณปกติของกองทุนในการดูแลผู้ป่วย และคิดคำนวณว่าจะต้องใช้ประมาณเท่าไร เพื่อเสนอขอกับสำนักงบประมาณ ฉะนั้น 3 กองทุนรัฐต้องหารือว่า การดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโควิดจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องตอบคือ UCEP Plus จะอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องกำหนดเรื่องนี้ ต้องมีการหารือในคณะกรรมสถานพยาบาลและดูว่า ศบค.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่าจะยังคงให้ UCEP Plus ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและแดงต่อไปอีกระยะ อย่างน้อยคือปีหน้า ส่วนผู้ป่วยสีเขียวก็ควรกลับเข้าสู่ระบบปกติบนพื้นฐาน ถ้าจะรักษาแล้วเข้า รพ.เอกชนก็เก็บเงิน ส่วนกองทุนสุขภาพรัฐใดจะจ่ายให้ก็จ่ายไป เชื่อว่าแต่ละกองทุนจะไม่ค่อยคุยกรณีผู้ป่วยสีเขียว เพราะเริ่มกลับสู่ระบบปกติ แต่ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงจะต้องมีคำตอบในการหารือร่วมกันในเวทีของ สธ.ว่าจะเอาอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น