xs
xsm
sm
md
lg

โต้ปมแยกยอดดับโควิด-โรคร่วมติดเชื้อ เหตุรักษาต่างกัน หวังสะท้อนสถานการณ์จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจง แยกรายงานดับจากโควิด ไม่รวมโรคร่วมติดเชื้อ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์จริง ทั้งการรักษาต่างกัน ส่งผลต่อการวางมาตรการและการรักษาในอนาคต เพื่อลดการเสียชีวิตทั้ง 2 กลุ่ม ช่วยให้กลุ่มโรคร่วมติดโควิด ลดโอกาสพลาดการรักษาโรคร่วม ส่วนโควิดกระตุ้นโรคร่วมจนดับหรือไม่ บอกไม่ได้ เหตุไม่มีการชันสูตร

จากกรณี นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กกรณีกระทรวงสาธารณสุข ปรับรายงานการเสียชีวิตโควิด โดยเสนอให้สังคมไทยเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการเสียชีวิต ทั้งจากโควิด และจากผู้มีโรคร่วมและติดเชื้อโควิด มิฉะนั้น จะยิ่งทำให้ภาพที่เห็นไม่ครบถ้วน และส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการระวังป้องกันตัวของประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ที่มีความจำเป็นในการรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิดอย่างเดียว เนื่องจากกรณีการแยกกลุ่มเสียชีวิตจากโรคร่วมแต่ติดเชื้อโควิด และกรณีคนติดเชื้อโควิด มีปอดอักเสบและเสียชีวิต การรักษาจะแตกต่างกันพอสมควร การแบ่งแยกกลุ่มจะทำให้มีผลต่อการวางแผนการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อการวางแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตทั้งสองกลุ่มได้ เช่น กลุ่มโรคร่วมเข้ามารักษาแต่ตรวจเจอโควิด มีอาการของโรคร่วมก็ดูแลแบบหนึ่ง เน้นโรคร่วมเป็นหลัก ถ้าโฟกัสรักษาอาการโควิดที่ยังไม่หนักก่อน อาจทำให้โรคร่วมหนักขึ้นเร็ว ขณะที่กลุ่มโรคร่วมแต่อาการมาจากติดเชื้อโควิด ปอดอักเสบ อาการโรคร่วมมากขึ้น ก็ต้องศึกษาเก็บข้อมูลมากขึ้น ให้โรคร่วมไม่รุนแรงมากขึ้น ติดเชื้อโควิดรักษาต่อได้ด้วย ลักษณะใช้ยาจะแตกต่างกัน เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการปรับรายงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

“การแยกการรายงานสองอย่างออกมา ทำให้สามารถทราบข้อมูลชัดเจนว่า ทำให้ผู้ป่วยโรคร่วมที่เป็นโรคเรื้อรังได้รับการรักษาทันท่วงที หากติดโควิดและมุ่งการรักษาโควิด ทำให้อาจพลาดโอกาสการวินิจฉัยโรคร่วมอื่นๆ และทำให้พลาดการรักษาอย่างทันท่วงทีได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนระบบ เนื่องจากในอนาคตโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เราจะได้ทราบข้อมูลชัดเจน อย่างกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป หลายคนไม่ได้ติดโควิด แต่เป็นโรคร่วมมีโรคเรื้อรัง หรือภาวะชรา ซึ่งอาจไม่ได้เสียชีวิตจากโควิด แต่หากเราแยกออกมา จะทำให้อนาคตเราทราบข้อมูลตรงนี้ และรักษาได้ตรงจุด ซึ่งอายุ 70 ปี ก็จะมีโรคเรื้อรัง และมีภาวะชราอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า โควิดไปกระตุ้นโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้บอกไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ จึงจำเป็นต้องศึกษาร่วมกันกับหลายๆผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากโควิดไม่เคยมีการชันสูตรศพ


กำลังโหลดความคิดเห็น