โรงเรียนเกือบ 3.5 หมื่นโรง เปิดเทอม 17 พ.ค.นี้ สั่งเข้มฉีดวัคซีนให้ครบ ทั้งกลุ่มประถม-มัธยม ประเมินตนเองก่อนเปิดเทอม ย้ำตรวจ ATK เฉพาะมีอาการหรือมีความเสี่ยง ไม่ต้องตรวจประจำ ลั่นเจอติดเชื้อ-สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ต้องปิดเรียน ให้ทำตามแผนเผชิญเหตุ กลุ่มเสี่ยงต่ำเข้าเรียนได้ เสี่ยงสูงกักตัว เว้นฉีดวัคซีนครบ ไม่มีอาการ ไม่แนะนำกักตัว โรงเรียนประจำจัดโซนเรียนแบบกักตัวได้
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดประชุมชี้แจงมาตรการเปิดเรียนออนไซต์ปลอดภัยอยู่ได้กับโควิด 19 ในสถานศึกษา ร่วมกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์
นายสาธิตกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.มีมติเปิดเรียนแบบออนไซต์เต็มรูปแบบในภาคเรียนที่ 1/2565 เนื่องจากกำลังเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น ตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดมีการเปิดเรียนออนไลน์และออนไซต์แตกต่างกันตามสถานการณ์ ทั้งนี้ การไม่ได้เรียนออนไซต์มีผลกระทบต่อเด็กโดยเฉพาะเรื่องปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเรียนออนไซต์ที่จะถึงในช่วงกลาง พ.ค.นี้ จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง นพ.สสจ. ผู้บริหารโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มาพูดคุยซักซ้อมการเปิดเรียนแบบออนไซต์ โดยขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และศูนย์อนามัยขับเคลื่อนทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรการ ซึ่งตนขอเน้นย้ำใน 4 เรื่อง คือ 1.เร่งทำความเข้าใจผู้ปกครองให้บุตรหลานมาฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามสมัครใจ สถานศึกษาจับคู่สถานพยาบาลเปิดฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 60% เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้แก่ลูกหลานทุกช่วงวัย คือ อายุ 5-11 ปี ในเข็มปกติ และอายุ 12-18 ปี เข็มกระตุ้น โดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน โดยให้ทุกส่วนให้คำแนะนำว่าวัคซีนมีประโยชน์ในการสร้างความปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อ อาการรุนแรงและเสียชีวิตในเด็ก ซึ่งพบการเสียชีวิตในเด็กมากขึ้นที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
2.สสจ.และศูนย์อนามัย ประสานสถานศึกษาเข้ารับการประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID+ ต้องผ่านการประเมินมากกว่า 95% นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านไทยเซฟไทยก่อนเปิดเทอมออนไซต์ 3.เรื่องการตรวจหาเชื้อ เมื่อก่อนอาจจะตรวจทุก 3-5 วัน แต่มีข้อสรุปให้ตรวจเมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง และ 4.ครู บุคลากร และเด็กนักเรียน เข้ารับวัคซีนครบตามเกณฑ์ นอกจากนี้ ขอย้ำว่าเมื่อพบผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ทำตามแผนเผชิญเหตุ ไม่ปิดชั้นเรียน เพราะนักเรียนควรเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน ต้องมีสถานที่ปฏิบัติตามมาตรการให้คำแนะนำ โดยให้ สสจ.ทำตามนโยบาย ศูนย์อนามัยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเดินหน้ามาตรการทั้งหมด เพื่อมูฟออนเปิดเทอมออนไซต์ให้ได้ และย้ำดำเนินมาตรการ 6 หลัก 6 เสริม และ 7 เข้ม
ดร.สุภัทร กล่าวว่า โรงเรียนที่จะเปิดเรียนมีหลายสังกัด รวม 3.5 หมื่นโรงเรียน เป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2.9 หมื่นโรง เอกชน 4.1 พันโรง และสังกัด อปท. มหาดไทย กทม. หรือหน่วยงานอื่นๆ อีก 1.8 พันโรง โดย 90% เปิดเทอมวันที่ 17 พ.ค. การเตรียมความพร้อม ศธ.ได้เร่งรัดผ่าน ศธจ.ให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อม เตรียมการด้านกายภาพ ทำความสะอาด อุปกรณ์ต่างๆ ให้เพียงพอ และย้ำ ศธจ.ทุกจังหวัดวางแผนนำเด็กเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์กำหนด
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในเด็กอายุ 0-19 ปี ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา พบว่า กลุ่มเด็กเล็ก 0-6 ปี , 7-12 ปี และ 13-19 ปี การติดเชื้อไม่แตกต่างกันมากช่วงวัยละประมาณหลักแสนรายขึ้นไป แต่ช่วง เม.ย.2565 พบว่าเด็กเล็ก 0-6 ปีมีสัดส่วนการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มากกว่าเด็กประถม 7-12 ปี และมัธยม 13-19 ปี อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในช่วง เม.ย.ของอายุ 0-19 ปีสัดส่วนยังอยู่ที่ 13.7% ส่วนผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่จุดเปลี่ยนคือกลาง มี.ค.เราพบผู้เสียชีวิตกลุ่ม 18 ปีลงมา และ 0-5 ปี เพิ่มมากขึ้นแต่เป็นแบบทรงตัว แต่ละช่วงสัปดาห์ประมาณ 2-6 ราย เมื่อดูข้อมูลการฉีดวัคซีน กลุ่มมัธยมมีการฉีดเข็มแรกและเข็มสอง ไม่น้อยกว่า 70% แต่การกระตุ้นเข็มสามยังต้องเร่งรัด เด็กประถม 5-11 ปี เข็มหนึ่งมากกว่า 53% เข็มสอง 13% ยังต้องเร่งรัด มาตรการเตรียมความพร้อมเน้นย้ำว่า สถานศึกษาต้องประเมินตนเองเพื่อปรับปรุงในช่วงนี้ เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมัธยม และเข็มปกติในเด็กประถม แม้จะสมัครใจแต่เราจะให้ข้อมูลผู้ปกครองเพื่อการตัดสินใจ มาตรการ 6-6-7 และเมื่อติดเชื้อหรือเสีย่งสูงให้ทำตามแผนเผชิญเหตุ ไม่ใช้สังคมความรู้สึกสังคมพาไป โดยขอให้ทุกจังหวัดศึกษาแนวทางและดำเนินการ
"ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปวิธีบริหารจัดการต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน อย่างที่ผ่านมาหลายโรงเรียนเจอผู้ติดเชื้อ-สัมผัสเสี่ยงสูงก็ปิดเรียน โรงเรียนใกล้เคียงก็ปิดตาม เปิดเทอมนี้ สธ.ชัดเจนมีนโยบายให้เปิดเรียนออนไซต์ เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอเหตุการณ์นี้ กรณีโรงเรียนประจำใช้มาตรการแซนด์บ็อกซ์ หากพบสัมผัสเสี่ยงต่ำยังให้เปิดเรียนออนไซต์ตามปกติ ประเมินไทยเซฟไทย เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร กรณีพบสัมผัสเสี่ยงสูงกักบริเวณได้ จึงให้จัดการเรียนการสอนแบบควอรันทีนโซน 5 วัน ติดตามสังเกตอาการอีก 5 วัน ส่วนการตรวจคัดกรอง ATK หากมีอาการตรวจทันที ไม่มีอาการช่วงที่กักตัวครบ 5 วันตรวจครั้งที่ 1 และครบ 10 วันตรวจครั้งที่ 2 แต่หากรับวัคซีนครบไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน เข้าเรียนได้ กรณีติดเชื้อประสานสาธารณสุขในพื้นที่ พิจารณาแยกกักตัว เพราะโรงเรียนประจำมีพื้นที่พอ หากไม่มีอาการอาจจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม เว้นระยะไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำความสะอาดห้องเรียน" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนโรงเรียนแบบไปกลับ กรณีสัมผัสเสี่ยงต่ำเปิดเรียนตามปกติ หากเสี่ยงสูงไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ครบ มีหรือไม่มีอาการให้กักตัว 5 วัน ติดตามอาการ 5 วัน กรณีรับวัคซีนครบถ้าไม่มีอาการไม่แนะนำกักกัน พิจารณาไปเรียนได้ ช่วงกักกันกรณีไม่รับวัคซีนให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการตรวจทันที ไม่มีอาการตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5 และครั้งสุดท้ายวันที่ 10 เน้นย้ำว่าถ้าติดเชื้อเว้นระยะ 2 เมตร